และแล้ว.. เราก็มาถึงตอน3กันจนได้
บล็อกนี้เป็นการแตกหน่อต่อยอดจากตอน1 และ ตอน2 ที่เขียนไว้ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภา ซึ่งจริง ๆ ว่าจะแตกเป็นตอน3 ซักพักละ แต่ก็มัวแต่ยุ่งขิงกับหลายสิ่งอย่าง จนล่วงเลยมาป่านนี้ ขออภัยผู้ติดตามทุกท่าน อนึ่ง บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ราคาและโปรโมชั่นต่าง ๆ เป็นของ ณ ตอนนั้น 
ก่อนอื่น เรามาทบทวนกันสักนิด ว่าใครคือ “กลุ่มเสี่ยง” บ้าง
“กลุ่มเสี่ยง” ของโรคCOVID-19 คือ
– ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และอื่น ๆ
– บุคลากรทางการแพทย์
– ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ เด็กเล็ก และผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ อ่อนแอ ไม่สมบูรณ์ หรือบกพร่อง ย้ำอีกครั้งว่าเด็กทารก เด็กเล็ก(แรกเกิด-3ขวบ) ควรงดเว้นการพาไปที่ชุมนุมชนหากไม่จำเป็น
– ผู้ที่ทำงานที่ต้องพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา เช่น พนักงานต้อนรับ พนักงานเสิร์ฟ แคชเชียร์ พนักงานขับรถสาธารณะ รวมถึงride-sharing/ride-hailing service พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาด หรือทำงานอยู่ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อสูง เช่น สนามบิน โรงแรม โรงพยาบาล และอื่น ๆ หรืออยู่ในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคสูง

กลุ่มที่ต้องระวังเป็นอย่างมากที่สุด คือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และอื่น ๆ หรือหากอยู่อาศัยในชุมชนที่มีการแพร่ระบาดของโรคCOVID-19สูง ก็ให้พิจารณายกระดับการป้องกันตามสมควรเช่นกัน

บทความนี้จะแบ่งเป็น2ส่วน ตอนต้นจะกล่าวถึงวิธีเตรียมซื้อ-จัดเก็บอาหาร ในการกักกันตัวเอง หรือหากมีเหตุจำเป็นใด ๆ ที่ทำให้ออกนอกหรือละทิ้งเคหสถานไม่ได้ และตอนท้าย จะเป็นข้อแนะนำหากพบคนในครอบครัวป่วยและต้องสงสัยว่าอาจเป็นโรคCOVID-19 หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ 

การกักกันตัวเองอยู่บ้าน หรือหากมีเหตุจำเป็นใด ๆ ที่ทำให้ออกนอกหรือละทิ้งเคหสถานไม่ได้ สำหรับคนกรุงเทพชั้นใน หรือตามหัวเมืองใหญ่อาจเป็นเรื่องง่าย เพราะมีทั้งบริการสั่งซื้อและส่งอาหารถึงบ้านต่าง ๆ ให้เลือกสรรอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น G***, L*** M**, G**, F******** รวมถึงบริการส่งถึงบ้านจากซูเปอร์มาร์เก็ต หรือไฮเปอร์มาร์เก็ตเจ้าต่าง ๆ อีกด้วย แต่หากอยู่พื้นที่นอกเขตบริการ กรุงเทพชั้นนอก หรือต่างจังหวัดไกล ๆ ซึ่งขาดความสะดวกสบายในจุดนี้ หรือมีเหตุใด ๆ ก็ตาม เราจึงควรต้องสำรองอาหารและสิ่งจำเป็นไว้ที่บ้านบ้าง เพื่อความไม่เอียนมาม่าและปลากระป๋อง (แฮ่) ขอแนะนำดังนี้ ** มีตารางสรุปย่อท้ายตอน **

คาร์โบไฮเดรต (สำหรับสายคีโต เชิญข้ามหมวดนี้ไปได้)
ข้าว .. อยากจะบอกว่า ถ้าเป็นข้าวขาว สำหรับผู้ใหญ่ กินแค่มื้อละทัพพีเดียวพอเห้อะ อย่างมากก็ 1.5ทัพพี ส่วนคนที่ติดวิ่ง ติดปั่น ออกกำลังเยอะ กินจุหรือวัยรุ่นกำลังโต จัดไปข้าวขาว2ทัพพีได้ สำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนกินน้อย ข้าวขาวมื้อละ1ทัพพีหรือตามแต่จะอิ่ม ถ้าเป็นข้าวกล้อง อนุโลมให้บวกไปได้อีก0.5ทัพพี 
ข้าวสารประมาณ20กรัม จะหุงได้ราว1ทัพพี ฉะนั้นคูณไปค่ะ ครอบครัวละกี่คน 3มื้อ กี่วันก็ว่าไป

สำหรับข้าวกล้องอย่างข้าพเจ้า มีที่ถูกใจอยู่หลายเจ้า ตามนี้
ข้าวกล้องดอยออร์แกนิค  Wellnessiam สินค้าออแกนิคเพื่อสุขภาพ  กับ  SiamPrana
ลองสอบถามเทียบดูว่าช่วงนี้เจ้าไหนโปรโมชั่นดีกว่า

ข้าวอิ่ม เกษตรเข้มแข็ง ก็คุณภาพใช้ได้เลย สั่งได้ที่เพจเลยจ้ะ 
ข้าวขาว ไม่ได้กินมาน้านนนนน นานมากละ.. ของ ข้าวตราไทไท ข้าวตราคุ้มแก้ว หรือ Great Harvestก็ดีอยู่ค่ะ

เพื่อความไม่เบื่อความแป้ง แนะนำขนมปัง พาสต้า มาม่าหรือหมี่กึ่งซอง/คัพทั้งหลาย โจ๊กซอง/คัพ วุ้นเส้น เส้นหมี่ บะหมี่ ก๋วยจั๊บญวน/ข้าวเปียกแห้ง แผ่นปอเปี๊ยะเวียดนาม ซีเรียล กราโนล่า จมูกข้าวสาลี ข้าวเหนียว ข้างฟ่าง ลูกเดือย สาคู ข้าวโอ๊ต หรือแป้งสาลีสำหรับสายทำขนม หรือทำแพนเค้ก เครปอะไรง่าย ๆ ก็แก้เบื่อดี หรือจะมีแป้งข้าวเหนียวติดไว้ทำบัวลอยแก้เซ็งก็ได้ เด็ก ๆ ชอบ (แต่ถ้าในครอบครัว มีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ ไม่แนะนำจ้ะ เดี๋ยวจะได้เป็นกันทั้งบ้านก็งานนี้)
หัวเผือกหัวมันก็ได้อยู่ แต่อย่าลืมว่าถ้ามันฝรั่งที่เก็บจนงอกเขียว ๆ แล้ว อย่าไปกินเชียว ทิ้งโลด.. อ้อ เดี๋ยวนี้มีมันบดสำเร็จนะ ก็ง่ายดี เกรวี่สำเร็จมีขายเยอะแยะ กินกะไก่ทอดก็แจ่ม 

อนึ่ง สำหรับผู้แพ้ไรฝุ่นระดับรุนแรง โปรดระวังแป้งและอาหารแห้งที่เก็บไว้นาน ดังนี้

โปรตีน (สำหรับสายเจหรือวีแกน เชิญเลือกกินตามศรัทธา)
เนื้อสัตว์ ผู้ใหญ่ 150กรัม ออกกำลังกาย/วัยรุ่น/กินจุ 200กรัม เด็ก/สูงอายุ/กินน้อย 100กรัม ง่ายยยยย.. บ้านไหนกินมากกินน้อยก็+-ไป กะปริมาณเนื้อสัตว์นี่ไม่ยาก ถ้าซื้อตามซูเปอร์หรือตามตลาด ก็คำนวณไปเลยว่าครอบครัวละกี่คน 3มื้อ กี่วันก็ว่าไป

เพื่อความไม่เบื่อ สายเนื้อสัตว์ นอกจากเนื้อสัตว์สดและแช่แข็งแล้ว แนะนำแฮม ไส้กรอก เบคอน กุนเชียง ไก่เชียง ปลาเชียง หมู/ไก่ยอ หมูหย็อง หมูแผ่น หมู/เนื้อฝอย หมู/เนื้อเค็ม หมู/เนื้อสวรรค์ Beef Jerky, Biltong ไส้อั่ว ไส้กรอกอีสาน ปลาร้า ปลาเค็ม ปลาแห้ง ปลา..กระป๋อง รวมถึงเนื้อสัตว์กระป๋องและอาหารปรุงสำเร็จพร้อมกินต่าง ๆ ทั้งชนิดที่สามารถเก็บในอุณหภูมิห้อง(Retort Pouch ต่าง ๆ ) ในตู้เย็น ในช่องแช่แข็ง หรือแม้แต่MRE

วิธีแช่แข็งและการละลายอาหารประเภทเนื้อสัตว์

สายไม่กินเนื้อสัตว์ หรือมีไว้แก้เบื่อ เดี๋ยวนี้ก็มีทางเลือกหลากหลายมาก นับตั้งแต่โปรตีนเกษตรรูปแบบต่าง ๆ (แหม่) ขาเห็ดหอมพะโล้ (อันนี้ชอบส่วนตัว) เนื้อทางเลือก จะ Impossible หรือ Beyond อะไรก็ว่าไป Quinoa เต้าหู้ต่าง ๆ ฟองเต้าหู้ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วทอง ถั่วดำ ถั่วChickpea ก็ทำได้หลากหลายดี ถั่วขาว ถั่วลันเตาแห้ง Lentil, Black Eyed Pea วอลนัต อัลมอนด์ หิมพานต์ มะค่าด่าเมีย เอ้ย แมคคาเดเมีย และถั่วอื่น ๆๆ กินเล่นก็ได้ กินจริงก็ดี

นานาสารพัดไข่ ทั้งไข่สด ไข่แห้ง ไข่เค็ม ไข่แดงเค็ม ไข่เยี่ยวม้า ไข่พะโล้.. จัดไปจ้ะ 
สำหรับผู้ติดเวย์โปรตีนก็เชิญจัดไปเช่นกัน 

ผัก หรือไฟเบอร์
ผักสำหรับคนไทยนี่กะยาก หลายคนไม่ชอบกินผัก บางคนก็ไม่กินผักบางอย่างหรือหลายอย่าง เอาเป็นว่าเน้นตามศรัทธาละกัน ว่าบ้านไหนใครกินผักอะไรกันบ้าง พอดีบ้านนี้ชอบกินผักมากกกกกก เลยต้องมีตุนไว้เยอะหน่อย แฮ่.. ให้เป็นไอเดียคร่าว ๆ ว่าถ้าผู้ใหญ่ก็ควรกินผักสุกวันละ 1/2-1ถ้วย นอกนั้นตามแต่ศรัทธา ถ้าจะให้ดี สำหรับสายไม่รักผัก แต่ไม่อยากเสี่ยงท้องผูกให้ร้าวรานหูรูด จงซื้อหา Psyllium Husk/Ispaghula Husk หรือChia Seed หรือเม็ดแมงลัก ติดบ้านไว้ อย่าลืมว่าต้องแช่น้ำให้บานอลึ่งฉึ่งก่อนกินนะจ๊ะ 

ผักใบส่วนมากเก็บไม่ค่อยได้นาน  ผักที่เก็บได้นานหน่อยก็พวกผักโขมไทย ขึ้นฉ่าย เซเลอรี่ ผักปลังก็ทนอยู่นะ พูดถึงผักปลังแล้วก็ต้องไม่ลืมกระเจี๊ยบเขียว ดีต่อระบบขับถ่ายนักแล ถั่วหวานก็ดี มะเขือเทศเคี่ยวเป็นpaste หรือซื้อเป็นกระป๋องไว้เลยก็ได้ 
อื่น ๆ ที่เก็บได้นานก็มะนาว พริก ใบมะกรูด ผักชี พวกนี้ฟรีซได้ ถึงจะไม่แหล่มมาก แต่ดีกว่าไม่มี
ผักฟรีซสำเร็จก็ได้อยู่นะ มีทั้งถั่วลันเตา ข้าวโพดหวาน แครอท ถั่วแระ เดี๋ยวนี้มีลดอยู่หลายยี่ห้อ ลองดู ๆ

เห็ดอย่างเห็ดEringi นี่เอามาหั่นตามขวาง เข้าเวฟให้สุก รอเย็นแล้วเข้าช่องฟรีซก็เก็บได้นานอยู่ รสชาติโอเคด้วย 
 
วิธีแช่แข็งผักผลไม้

หอมใหญ่ หอมแขก หอมซุป หอมแดง กระเทียมนี่หายห่วง ไม่ง้อตู้เย็นอยู่แล้ว มะขามเปียกก็ดี
ถ้าบ้านไหนมีที่ทางและแดดอำนวยก็จัดไปเลย.. พืชผักสวนครัว รั้วกินได้ ผักระเบียง ผักคอนโด อะไรก็ว่าไป กะเพราะ โหระพา สะระแหน่ และอื่น ๆ ๆ
ผักกระป๋องนี่ตามแต่ศรัทธาเช่นกัน พวกของดองนี่ก็ได้อยู่ กระเทียมดองน้ำผึ้ง ทำยำดีนักแล 

ผลไม้
ตามแต่ศรัทธาอีกเหมือนกัน แต่ที่เก็บได้นานก็เห็นจะไม่พ้นกล้วยยยยยยยยยย มะละกอ ฝรั่งพอได้ แอปเปิ้ลนี่ก็ยังพอไหว สำหรับไว้นอกตู้เย็น
เช่นเคย.. นอกจากผลไม้กระป๋องแล้ว ผลไม้ฟรีซ ผลไม้ฟรีซดราย ผลไม้แห้ง เก็บได้นาน ส่วนตัวชอบแครนเบอร์รี่ อมเปรี้ยวอมหวานดี ลูกฟิกก็เคี้ยวเพลินกรุบกรับดีนักแล

สรุปย่อ ถ้าจะซื้ออาหารสำหรับอาทิตย์นึง เตรียมไว้สำหรับครอบครัว3คน สมมติว่าพ่อเป็นนักวิ่ง กินเยอะหน่อย แม่เป็นผู้ใหญ่ทั่วไป ลูกเป็นเด็กประถมต้น ก็จะได้ประมาณนี้

ข้าวสารถุงละ 2 กิโล เนื้อสัตว์เผื่อไว้ 3.5 โลก็ได้ หรือถ้ามีกระดูก เช่น น่องสะโพกไก่รัยงี้ ก็จัด 4 กิโลไปเลย ส่วนผักก็แล้วแต่บ้านไหนกินมากน้อย นี่ทำไกด์ไลน์ไว้ให้ตีกลม ๆ ก็ 3 กิโล ถ้าบ้านไหนไม่ชอบผัก.. กิโลเดียวคงเหลือเฟือ ใครกินอะไรมากน้อยก็เพิ่ม-ลดตามสะดวก XD 

ตารางนี้คือย่อย+เน้นให้เข้าใจง่ายมาก ๆ และคร่าวมาก ๆ ๆ แค่พอเป็นแนวทาง.. หากเห็นตัวเลขแค่นี้แล้วยังจะเป็นลม (เราเข้าใจนะ เราก็เด็กภาษาเหมือนกัน) ขอแนะนำ รายการอาหารแลกเปลี่ยน ของศูนย์เบาหวานศิริราช ก็ดูง่ายดีจ้า ตามนี้เลย https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/diabetes/admin/knowledges_files/11_44_1.pdf

และต้องไม่ลืมน้ำดื่ม!! สำรองไว้บ้างก็ดี ตีซะสำหรับผู้ใหญ่คนละขวดใหญ่ 1.5 ลิตรต่อวัน ไว้ล้างหน้าล้างตา แปรงฟันก็ยังได้ ไม่รู้น้ำประปาเมืองกรุงจะกลับมาเค็มอีกไหม -_- 

ตู้เย็นและช่องฟรีซ อย่าอัดของให้มันแน่นมาก เพราะ.. มันจะไม่เย็น -_- เราคงไม่อยากได้ตู้เย็นที่ไม่เย็นหรอกเนอะ อะไรที่ค้างปีค้างชาติเป็นเศษซากฟอสซิลก็.. ทิ้ง ๆ ไปบ้าง
สำหรับหลักในการตุนและกินอาหารที่ตุนนั้น ให้ใช้หลัก FIFO “First-In, First-Out” และ FEFO “First Expired, First Out” อันไหนตุนก่อน หรือหมดอายุก่อน ให้กินอันนั้นก่อน เวลาทำอาหารตุนในตู้เย็น หรือช่องฟรีซ อย่าลืมเขียนด้วยว่าเป็นอาหารอะไร ตุนไปตั้งกะเมื่อไหร่ เพราะ.. เคยมาแล้ว คิดว่าจำได้แหละ สุดท้าย.. ไอ้ถุง ๆ น้ำ ๆ สีน้ำตาล ๆ ในช่องฟรีซนี่มันคืออะไรแว้ หมู ไก่ หรือเนื้อ.. ซุปหรือต้มแซ่บ หรืออัลลัยยยยย.. ???

เครื่องปรุง
นอกเหนือจากเครื่องปรุงพื้นฐานตามแต่ศรัทธา เช่น น้ำมัน น้ำตาลทราย เกลือ พริกไทย น้ำปลา น้ำปลาร้า ซอสปรุงรส น้ำมะขาม น้ำพริกเผา.. แล้ว อื่น ๆ ที่ควรมีก็.. 
น้ำพริกแกงจะแบบแกงเอง+กะทิกล่อง/ถุงก็มีมากมาย

หรือถ้าไม่ถนัดต้มผัดแกงทอดเอง Roi Thai เค้าก็มีจัดโปรอยู่

น้ำพริกแห้ง.. นี่ก็หลากหลายเจ้ามาก 

ปลาร้าคั่วสมุนไพร.. นาน ๆ เปิดที ต้องคอยติดตามจ้ะ หรือสอบถามทางเพจดู

ซอสและเครื่องจิ้มอันจะกิน ของพี่ก้อย นี่ก็นาน ๆ เปิดที แฟนคลับเค้าเพียบ!! ต้องคอยติดตามว่าเปิดเมื่อไหร่เช่นกัน
(ลิ้งก์นี้ต้องเปิดบนบราวเซอร์นะ ถ้าเข้าจากมือถือ มันจะเดี้ยง T_T )
https://www.facebook.com/kanitthaka.limangkura/media_set?set=a.10152797176074272&type=3

นอกเหนือจากนี้ก็แล้วแต่เลย นานาสารพัน ซอสมะเขือ ซอสพริก น้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มซีฟู้ด โคชูจัง มิโสะ น้ำสลัดข้น/ไส เอ้ย ใส..
เนย ชีส ครีมชีส โยเกิร์ต
นม นมUHT นมถั่วเหลือง นมถั่วอื่น ๆ นมข้นจืด นมข้นหวาน นมผง 
เนยถั่ว แยมต่าง ๆ
น้ำผึ้ง น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลปึก
ชา กาแฟ โกโก้ ไมโล โอวัลติน .. ถ้าขาดชาไข่มุกไม่ได้ ก็แนะนำซื้อไข่มุกที่ชอบ ๆ มาสำรองไว้จ้ะ
พวกไมโล โอวัลติน น้ำผลไม้ นี่เอามาทำไมโล/โอวัลตินภูเขาไฟ หรือหวานเย็นให้เด็ก ๆ กินเล่นเพลิน ๆ ยังได้  

ขนมขบเคี้ยว.. บ้านนี้ไม่ถนัดพวกมันฝรั่งทอด ขนมซอง ๆ ทั้งหลาย ฉะนั้นขอข้าม ใครชอบก็จัดไปตามศรัทธา แต่ถ้าอยากได้ของกินเล่นที่ดีต่อสุขภาพด้วย ขอแนะนำเป็นกราโนล่าบาร์ พาวเวอร์บาร์ ถั่วและผลไม้แห้งต่าง ๆ นี่ก็กินเพลินดี คุกกี้โครงการหลวงก็ได้อยู่ เยลลี่หรือวุ้นต่าง ๆ เต้าฮวยก็ได้ 
ถ้านึกไม่ออก ลองไปดูที่Sunshine Market ไอเดียเพียบบบบบ ที่นี่มีTempeh ด้วยน้า แถมช่วงนี้มีโปรเด็ดส่งฟรีทั่วประเทศถึงสิ้นเดือนมีนานี้เท่านั้น ไม่มีขั้นต่ำด้วย ว้าวมากกกกกก

อย่าลืม!! หากบรรดาเจ้านาย เอ้ย สัตว์เลี้ยง ติดอาหารยี่ห้อไหน ให้สำรองไว้ด้วยนะจ๊ะ

นอกนั้นก็ของใช้ส่วนตัวในชีวิตประจำวัน อื่น ๆๆๆ เช่น สบู่ สบู่เหลว แชมพู ครีมนวด ยา/แปรงสีฟัน ไหมขัดฟัน มีดโกน ครีมโกนหนวด โรลออน ซึ่งเดี๋ยวนี้ว่านไม่ใช้แล้ว เพราะพบทางสว่างกับ Certain Dri ส่วนทิชชู่เอาจริง ๆ บ้านเราไม่ค่อยอะไรเท่าไหร่ คนไทยติดสายฉีดชำระมากกว่า (ฮา) สำหรับคุณผู้หญิงอย่าลืมผ้าอนามัย แต่เดี๋ยวนี้ว่านใช้ถ้วยอนามัยแล้ว สบายไปเช่นกัน ไว้จะมาแนะนำจริงจังอีกที
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวแบบไม่ต้องใช้น้ำ มีติดไว้บ้างไม่เสียหลาย
สายคอนแทกเลนส์ อย่าลืมน้ำยาคอนแทก และยาหยอดตาต่าง ๆ

น้ำยาถูบ้าน ซักผ้า ปรับผ้านุ่ม ล้างจาน ล้างห้องน้ำ.. ว่ากันไปตามสะดวก.. น้ำยาฟอกขาวนี่สารพัดประโยชน์ก็จริง แต่อย่าลืมว่ามีฤทธิ์กัดกร่อนสูงมาก เวลาใช้ไม่ว่าจะเพื่ออะไรโปรดใช้อย่างระมัดระวัง

หยูกยาสามัญประจำบ้าน พลาสเตอร์ ยาทาแผลอย่างเบ**** หรือPovidone iodine ยาลม ยาดม ยาหม่อง ถ้ายาพารา ฯ แนะนำแบบ8 ชั่วโมง น้ำเกลือล้างจมูก/ล้างแผล ผงเกลือแร่ ถ่านกัมมันต์ มีติดบ้านไว้ ไม่เสียหลาย

พูดถึงเรื่องยา ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวที่ต้องหาหมอตามนัด หรือต้องกินยาประจำ และเจ้าตัวต้องไปพบหมอเอง ให้คนอื่นไปรับยาแทนไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว แนะนำให้เลื่อนนัดให้เร็วขึ้น หาหมอยิ่งเร็วยิ่งดีภายในมีนานี้ ปัจจุบัน (22/03/20) รพ.รัฐขนาดใหญ่ขอความร่วมมือคนที่ไม่เจ็บป่วยมาก หรือญาติผู้ป่วยใน ให้งดเว้นการไปรพ.แล้ว ฉะนั้นพึ่งพิจารณาตามสมควร หรือไม่งั้นอีกทีก็เลื่อนยาวไว้รอดูสถานการณ์ประมาณต้นหรือกลางพฤษภาไปเลย เพราะการพาคนไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็นในระยะอันใกล้นี้ อาจยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้อต่าง ๆ นานาจ้ะ

พูดถึงส.ว. อย่าลืมสำรองผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำหรับคนที่ต้องใช้ หรืออาจต้องใช้ด้วยนะจ๊ะ 
และแน่นอนว่าสำหรับคุณแม่ลูกอ่อนก็กวาดตาดูเลยว่าของสำหรับลูกน้อยมีพร้อมไหม ขาดเหลืออะไรหรือเปล่า จัดไป..

อีกสิ่งที่ต้องไม่ลืม.. ไฟฉาย(โปรดเปิดเช็คพลังแบต) พาวเวอร์แบงก์ เก็บไว้ไหนอย่าให้ไกลมือ 

ของกินของใช้อะไรที่ทยอยซื้อได้ ให้เริ่มซื้อหาได้เลย อย่ารอจนเกิดPanic buy เพราะการต้องไปต่อคิวซื้อและจ่ายเงินเงินเป็นชั่วโมง ๆ ในที่ ๆ คนแออัด ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวเองโดยไม่จำเป็นอย่างหนึ่ง หากเหตุการณ์ผ่านพ้นไปด้วยดี.. ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นเช่นนั้น.. ของทั้งหลายเหล่านี้ก็เอาไปบริจาคให้แก่ผู้ยากไร้ที่ต้องการได้ 
หาก

หากพบคนในครอบครัวป่วยและต้องสงสัยว่าอาจเป็นโรคCOVID-19 หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ  หรือแม้แต่เป็นโรคCOVID-19 ที่อาการไม่หนักมาก ซึ่งอาจถูกขอให้รักษาตัวเองที่บ้านในระยะอันใกล้นี้ ควรปฏิบัติดังนี้ 
– ทำแบบคัดกรองสำหรับผู้สงสัยโรคไวรัสโคโรนา​ 19 (COVID-19) มีให้เลือกหลากหลายเว็บ ทั้งภาษาไทย-อังกฤษ-จีน หากเข้าข่าย แจ้งทางการที่สายด่วน1422 (ถ้าเป็นแล้ว ข้ามโลด) 
https://cmsdm.net/Self-Screening/
http://rajavithi.emergencymed.net/test/th_index.php 
วิธีแยกว่าเป็นหวัดธรรมดาสามัญ หรือไข้หวัดใหญ่ หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ 
ถ้าหวัดธรรมดา : มักไข้ต่ำหรือไม่มีไข้ ไม่เพลียหรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก ไม่หายใจลำบากหรือหอบเหนื่อย อาจมีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ 
ถ้าโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ไข้หวัดใหญ่ SARS, MERS, COVID-19 : มักมีไข้สูง เพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก  หายใจลำบาก ติดขัด หรือหอบเหนื่อย อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ มักไม่ค่อยมีน้ำมูก
– แยกผู้ป่วยออกมาในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก และให้ผู้ป่วยหยุดพักอยู่บ้าน ไม่ต้องไปเรียน/ทำงาน หรือไปในที่สาธารณะ มีมือถือติดตัวไว้ด้วย เผื่ออาการหนัก หายใจไม่ออกหรือจะเป็นลมเป็นแล้งขึ้นมา จะได้ติดต่อคนอื่นได้
– หากมีสมาชิกหลายคนในครอบครัว ให้มอบหมายคนใดคนหนึ่งในบ้านที่สุขภาพดีเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย และอย่าเพิ่งให้ใครเยี่ยม เพื่อลดการติดเชื้อเพิ่ม
– แยกข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของผู้ป่วยออกมา เช่น จานชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และอื่น ๆ รวมถึงแยกทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและ/หรือต้มในน้ำร้อนเดือดจัด อย่างน้อย15นาที
– ให้ผู้ป่วยใส่-ถอดหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี หมั่นเปลี่ยนทุกวัน 
– ถ้าห้องน้ำมีหลายห้อง แยกให้ผู้ป่วยใช้ห้องเดียวไปเลยจะดีที่สุด แต่ถ้าต้องใช้ร่วมกัน ต้องทำความสะอาดบริเวณอาบน้ำ อ่างล้างหน้า โถสุขภัณฑ์ทุกครั้งหลังผู้ป่วยใช้ หรือหลังจากเทสิ่งปฏิกูลจากกระโถนผู้ป่วยลงชักโครก อย่าลืมปิดฝาชักโครกก่อนกดชักโครกทุกครั้ง เพื่อกันการแพร่กระจายของของเสียและเชื้อโรค (ข้อนี้จริง ๆ แล้วถึงไม่ป่วยก็ควรทำให้เป็นนิสัยนะ พลีสสส)
– แยกทิ้งขยะของผู้ป่วย เช่น หน้ากากอนามัย ทิชชู่ใช้แล้ว เศษอาหารที่รับประทานเหลือ และอื่น ๆ หากใส่ถุงขยะติดเชื้อสีแดงได้ยิ่งดี 
– หากอาการแย่ลง จำเป็นต้องพาไปพบแพทย์ ควรเดินทางโดยรถส่วนตัว หากต้องเดินทางโดยรถสาธารณะ ควรเป็นรถแท็กซี่และให้ผู้ป่วยใส่หน้ากาก หรือไม่เช่นนั้นให้ปรึกษาสายด่วน1422 เผื่อว่าจะสามารถส่งรถพยาบาลมารับที่บ้านได้ 

ส่วนผู้ดูแลผู้ป่วยควรใส่-ถอดหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี เปลี่ยนหน้ากากทุกวัน และล้างมืออย่างถูกวิธีทุกครั้งหลังเข้า-ออกห้องผู้ป่วย
เวลาทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ของผู้ป่วย เช่น จาน ชาม ต้องใส่ถุงมือทุกครั้ง และรักษาความสะอาดเป็นอย่างยิ่ง
หากต้องสัมผัสกับสารคัดหลั่ง สิ่งปฏิกูลของผู้ป่วย ต้องใส่ถุงมือทุกครั้ง และรักษาความสะอาดเป็นอย่างยิ่ง

วิธีที่กล่าวมานี้ ใช้ดูแลผู้ป่วยหวัด หวัดเล็กหวัดใหญ่ หวัดมากหวัดน้อย SARS, MERS โรคติดเชื้อทางเดินหายใจใด ๆ ได้ทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่ COVID-19 เป็นหลักปฏิบัติเพื่อสุขอนามัยของผู้ป่วยและทุกคนในบ้าน จะได้ไม่แพร่เชื้อต่อกันจ้ะ

สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่เสี่ยง ต้องคลุกคลีกับปู้ป่วย และ/หรือชุมชนที่มีการแพร่ระบาดโรคCOVID-19 สูง แนะนำวิธีปฏิบัติเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่ผ่านมา เช่น ในเรื่องของการใส่-ถอดหน้ากากให้ถูกวิธี และขอย้ำว่าไม่นำมือมาล้วง-แคะ-แกะ-เกา-ขยี้-สัมผัสตา จมูก ปาก ล้างมือด้วยน้ำเปล่าและสบู่.. แล้ว ควรจะ..
– ระวังสุขอนามัยในการใช้ห้องน้ำสาธารณะร่วมกันเป็นอย่างมาก หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดมือและเครื่องเป่ามือในห้องน้ำสาธารณะ 
– กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ร้อนและสะอาด ไม่วางผึ่งแดดผึ่งลมไว้ในที่สาธารณะ พื้นที่เปิดหรือข้างถนนข้างทาง รวมถึงหาบเร่แผงลอย ระวังอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน เช่น ผักสด ผลไม้ตัดแต่ง หรือปรุงทิ้งไว้นานแล้ว หรือผ่านการหยิบจับมาหลายมือ ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อได้ คิดง่าย ๆ ว่าถ้าเราเห็นอาหารนั้นแล้ว เกิดบริเวณนั้นมีแมลงวันบินอยู่แล้วมันสามารถวื้บบบบบ มาแลนดิ้งที่อาหารนั้นได้.. อย่ากิน
– ไม่กินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะประเภทเนื้อสัตว์ หรือปรุงจากสัตว์หายาก เปิบพิสดารต่าง ๆ
พกน้ำยาฆ่าเชื้อหรือสบู่เหลวไปเอง ไม่ใช้ของสาธารณะ  (ไม่อยากนอยด์ ไม่แนะนำให้คลิ้กอ่าน)
– พกอุปกรณ์รับประทานอาหารและหลอดไปเอง ไม่ใช้ของสาธารณะ ตามร้านอาหาร หรือตามศูนย์อาหาร
– พกปากกาและของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ ไปเอง ไม่ใช้ของสาธารณะ
– ผู้ที่ใส่แว่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ให้ระวังการจับ ถอด ใส่ เปลี่ยน สลับ ขยับขาแว่น เช็ดแว่น และต่าง ๆ นานาของแว่น.. ประสบการณ์ตรงจากการสังเกตมารดาดิฉันเอง ลุ้นจะเป็นลม    
– ถ้านั่งรถสาธารณะ เตรียมเงินให้พอดี ไม่ต้องทอน หรือใช้บริการCashless ต่าง ๆ ดีที่สุด 
– เปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผมทุกครั้งเมื่อกลับถึงที่พักหลังไปข้างนอก
– หมั่นรักษาสุขอนามัยในบ้าน รวมถึงของสัตว์เลี้ยงด้วย หากมี
– ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังหยิบจับของสด วัตถุดิบในการประกอบอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ดิบ รวมถึงไข่ไก่ รวมถึงเวลาปรุงอาหารด้วย
– ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ อาบน้ำ และดูแลสุขอนามัยอื่น ๆ ใด ๆ ของร่างกาย
– ล้างมือให้สะอาดหลังดูแลสวน ต้นไม้ รวมถึงสัตว์เลี้ยงและมูล อย่าเดินเท้าเปล่าบนดินหญ้า อย่าพึ่งมารักสายลมแสงแดดตอนนี้..
– หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะในฟาร์มหรือสัตว์ป่า สัตว์จรจัด สัตว์ข้างทาง
– เลี่ยงสถานที่แออัด ชุมนุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ที่เราไม่สามารถจัดการและมั่นใจในความสะอาดได้ เช่น บ้านบอล สวนสนุก สวนน้ำ สระว่ายน้ำ ฟิตเนส คอนเสิร์ต สนามกีฬา ควรงดเว้นไปก่อน

เบื้องต้นเท่านี้ก่อน ไว้นึกอะไรได้จะมาเพิ่มเติมเรื่อย ๆ จ้ะ

อ่านเพิ่มเติม
https://hygienefoodsafety.org/how-to-store-foods-safely/
https://www.foodsafety.gov/
https://www.fsis.usda.gov/wps/portal/fsis/topics/food-safety-education/get-answers/food-safety-fact-sheets
https://www.bbc.co.uk/bitesize/guides/zndnsrd/revision/1 

Disclaimer ทั้งหมดนี้ ซื้อเองจ่ายเองตุนเอง ไม่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าไหนแต่อย่างใด 
ยกเว้นน้ำพริกแกงคุณนันท์ และคุณยายชวนชิมที่เคยส่งเสบียงน้ำพริกและปลาร้าคั่วสมุนไพรมาให้จ้ะ 

ติดตามว่านน้ำได้ที่ https://www.facebook.com/wannamdotcom/ 
อ่านแล้วชอบ อ่านแล้วดี มีประโยชน์ สนับสนุนว่านน้ำได้ที่ https://www.paypal.me/WannamCom 
หรือ
ธนาคารกสิกรไทย Kasikornbank
Swift code : KASITHBK
Account Number : 030-3-90589-8
Account Name : Phaninsudha
มากน้อยไม่ว่ากัน คิดซะว่าเหมือนเลี้ยงกาแฟว่าน อย่าง Buy me a Coffee หรือ Patreon 
ขอบคุณทุกการสนับสนุนนะคะ ?