ข้อตกลงเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันก่อนอ่าน
1. อัปเดตล่าสุด – 20/03/2020 : บทความนี้เขียนเมื่อวันที่ 09/02/2020 ยึดถือตามสถานการณ์ ณ วันดังกล่าว หากมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จะมาอัปเดตให้ในบล็อกนี้ 
2. บทความนี้เน้นการปฏิบัติตัวสำหรับคนกรุงเทพ หรือผู้ที่อยู่ชุมชนหนาแน่นที่ยังไม่ใช่พื้นที่แพร่ระบาดหนักเป็นหลัก ฉะนั้น
2.1 ผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด หรือชุมชนที่ผู้คนเบาบาง ยังไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามนี้ทั้งหมด แต่สามารถเริ่มทำได้ตามที่เห็นควร เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดี
2.2 ผู้ที่เป็น “กลุ่มเสี่ยง” อยู่ต่างประเทศ หรือชุมชนที่มีการแพร่ระบาดของโรคCOVID-19 สูง ให้พิจารณายกระดับการป้องกันตามสมควร สามารถดูคำแนะนำได้ที่ ตอนสาม
3. ข้อปฏิบัติทั้งหมดนี้ ใช้ได้กับทุกโรคที่ติดต่อทางDroplet ไม่ว่าจะเป็นไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019, SARS, MERS, RSV, หวัดธรรมดาสามัญ และอื่น ๆ หรือแม้แต่ไข้หวัดใหญ่ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงก็เช่นกัน 
4. แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ล่าสุดคือ Southern Strain 2020 แม้วัคซีนนี้จะไม่มีส่วนในการป้องกันโรคCOVID-19 แต่อย่างน้อยก็สามารถลดจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ที่อาจเป็นภาระกับสถานพยาบาลได้ และหากเราต้องไปโรงพยาบาลด้วยอาการป่วยในขณะที่มีผู้ป่วยโรคCOVID-19ชุกชุม ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้อให้กับตัวเอง และทั้งหมดนี้ ต้องไม่ลืมว่ามีคนเสียชีวิตด้วยไข้หวัดใหญ่เยอะกว่าโรคCOVID-19 มากนัก 
5. ทดสอบการแพ้ก่อนใช้สารใด ๆ ทั้งนั้น

เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา WHO ประกาศว่าโรคCOVID-19 เป็น Pandemic อย่างเป็นทางการแล้ว โดยโคโรนาไวรัสสายพันธุ์กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง 2 หรือ SARS-CoV-2 (Severe Acute Respiratory Syndrome COronaVirus 2) ซึ่งก่อให้เกิดโรคCOVID-19 (COronaVIrus Disease that was discovered in 2019) นั้น มีลักษณะดังนี้ 
1. โรคCOVID-19นี้ “ติดง่าย-หายได้-ตาย(ค่อนข้าง)ยาก” หากร่างกายแข็งแรงดี และไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ 
2. โรคCOVID-19นี้ “ยัง”แพร่กระจายและติดต่อทางDroplet เป็นหลัก
ล่าสุด The National Health Commission ออกมาประกาศว่าโรคCOVID-19นี้ สามารถติดต่อทางอากาศได้ในสภาวการณ์พิเศษ คือหากคน ๆ หนึ่งอยู่ในพื้นที่ปิดที่ในอากาศนั้น มีฝอยละอองที่มีเชื้อไวรัสSARS-CoV-2 ล่องลอยอยู่อย่างหนาแน่น แล้วหายใจฝอยละอองเหล่านั้นเข้าไปเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ คำแนะนำของWHO, CDC ยังระบุการแพร่ระบาดของโรคCOVID-19เป็น Droplet transmission อยู่ ซึ่งหากมีเปลี่ยนแปลงจะมาอัปเดตให้ทราบต่อไป 
Droplet transmission หมายถึงว่าไวรัสนี้ติดต่อกันทางฝอยละอองเสมหะ ไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะโดยการหายใจฝอยละอองเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกาย = ถูกคนมีเชื้อไอ-จามใส่ตรง ๆ ในระยะรัศมีประมาณ 1 เมตร และ/หรือสัมผัสเข้าสู่ร่างกาย = เอามือ/นิ้วไปจับต้องพื้นผิวที่มีไวรัสนี้อยู่ แล้วมาสัมผัสตา จมูก ปาก แผลเปิด และเนื้อเยื่ออ่อนอื่น ๆ โดยไวรัสนี้ “ยัง”ไม่แพร่กระจายเชื้อทางอากาศ
มีงานวิจัยมากมายที่ระบุตรงกันว่าผู้ป่วยโรคที่ติดต่อทางDroplet มักจะได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อนี้อยู่ มากกว่าการ(ซวย)ถูกผู้ป่วยไอ/จามใส่ในที่สาธารณะเสียอีก 

การใส่หน้ากากอนามัย ต่อให้เป็นหน้ากากN95 หรือแม้แต่P100 ก็ไม่ได้ช่วยให้รอดจากการติดโรคCOVID-19 หาก
2.1 ใส่-ถอดหน้ากากผิดวิธี และ/หรือใส่หน้ากากไม่ครอบจมูก ปาก หรือใส่กองไว้ที่คาง
2.2 ใส่-ถอดหน้ากากถูกวิธี และยังนำมือมาล้วง-แคะ-แกะ-เกา-ขยี้-สัมผัสตา จมูก ปาก แผลเปิด และเนื้อเยื่ออ่อนอื่น ๆ
2.3 ใส่-ถอดหน้ากากถูกวิธี ไม่นำมือมาล้วง-แคะ-แกะ-เกา-ขยี้-สัมผัสตา จมูก ปาก แผลเปิด และเนื้อเยื่ออ่อนอื่น ๆ แต่ไม่ล้างมือ
2.4 ใส่-ถอดหน้ากากถูกวิธี ไม่นำมือมาล้วง-แคะ-แกะ-เกา-ขยี้-สัมผัสตา จมูก ปาก แผลเปิด และเนื้อเยื่ออ่อนอื่น ๆ แต่ล้างมือด้วยน้ำเปล่า
2.5 ใส่-ถอดหน้ากากถูกวิธี ไม่นำมือมาล้วง-แคะ-แกะ-เกา-ขยี้-สัมผัสตา จมูก ปาก แผลเปิด และเนื้อเยื่ออ่อนอื่น ๆ ล้างมือด้วยน้ำเปล่าและสบู่ แต่ไม่ถูกวิธี
เป็นต้น..

สรุป “คนไม่เสี่ยง-ไม่เจ็บ-ไม่ป่วย หน้ากากใส่ให้ดี ล้างมือถูกวิธีสำคัญที่สุด”

แล้วการล้างมือถูกวิธีคืออย่างไร..
ต้องเข้าใจก่อนว่าการทำความสะอาดมือด้วยเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ไม่สามารถทดแทนการล้างมือด้วยน้ำเปล่าและสบู่อย่างถูกวิธีได้ทั้งหมด  
การทำความสะอาดมือด้วยเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกล้างมือเป็นประจำ เช่น พนักงานต้อนรับ พนักงานเสิร์ฟ แคชเชียร์ พนักงานขับรถสาธารณะ รวมถึงride-sharing/ride-hailing service พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาด บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้ที่มีหน้าที่หรือลักษณะงานที่ต้องอยู่เวร อยู่กะ ไม่สามารถละทิ้งหน้างานไปล้างมือบ่อย ๆ ได้
การทำความสะอาดมือด้วยเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ต้องมีความเข้มข้นของ%แอลกอฮอล์ที่ 60−90% ระดับที่เหมาะสมที่สุดคือ 70%+-
การทำความสะอาดมือด้วยเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ถ้ามีความเข้มข้นของ%แอลกอฮอล์ไม่เพียงพอ จะไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้
การทำความสะอาดมือด้วยเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ถ้ามีความเข้มข้นของ%แอลกอฮอล์มากเกินไป จะไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้เช่นกัน อธิบายแบบเข้าใจง่าย คือน้ำที่น้อยไปจะไม่สามารถพาแอลกอฮอลล์เข้าสู่เซลล์เชื้อโรคเพื่อออกฤทธิ์ฆ่าได้เต็มที่ และอีกอย่างคือแอล ฯ จะระเหยไปก่อนที่เชื้อโรคจะตาย
การทำความสะอาดมือด้วยเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ถึงจะมีความเข้มข้นของ%แอลกอฮอล์ที่เหมาะสม แต่ปริมาณที่ใช้ไม่มากพอ หรือทำความสะอาดไม่ทั่วถึง จะไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้เช่นกัน
การทำความสะอาดมือด้วยเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ถึงจะมีความเข้มข้นของ%แอลกอฮอล์ที่เหมาะสม แต่หากมือนั้น เลอะ เปรอะ เปื้อนสิ่งสกปรก สารคัดหลั่งหรือคราบสกปรกใด ๆ เป็นอย่างมาก จะไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้เช่นกัน
การทำความสะอาดมือด้วยเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ถึงจะมีความเข้มข้นของ%แอลกอฮอล์ที่เหมาะสม ไม่สามารถทดแทนการล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดอย่างถูกวิธีได้ทั้งหมด ย้ำอีกครั้ง

วิธีทำเจลแอลกอฮอล์อย่างง่ายมาก จากเพจเคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว 

ทั้งนี้ เพจเคมีฟิสิกส์ ฯ ยังมีสูตรน้ำยาซักผ้าฆ่าเชื้อ น้ำยาล้างผักปลอดภัย รวมถึงน้ำยาอื่น ๆ ที่สามารถทำได้ไม่ยาก ตามนี้ รวมสูตรไม่เด็ดของแอดมิน สำหรับคนที่เข้าจากมือถือ เข้าทางนี้ค่ะ https://www.facebook.com/groups/589251888257808/permalink/815266758989652/
วัตถุดิบต่าง ๆ สามารถซื้อออนไลน์ได้ที่ร้านฮ.ฮ. และ/หรือเว็บซื้อขายออนไลน์S ร้าน ก.เคมี ราคาค่อนข้างมิตรภาพ ถ้าสั่งเยอะ แอดมินอาจจะงง งงหน่อย ต้องย้ำดี ๆ หรือจะซื้อจากร้านเคมีภ. หรือร้านขายเคมีอื่น ๆ ก็ได้ อย่าลืมเทียบราคาหลายแหล่งก่อนตัดสินใจ ราคาอาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

วิธีทำสเปรย์แอลกอฮอล์อย่างง่ายมากถึงมากที่สุด 
ซื้อแอลกอฮอล์เช็ดแผล70% กรอกใส่ขวดสเปรย์.. จบ!! เย้!!!
เอาจริง ๆ แล้วว่านค่อนข้างให้น้ำหนักความสามารถในการฆ่าเชื้อของสเปรย์แอลกอฮอล์มากกว่าเจลเสียอีก เพราะเรารู้%แอลกอฮอล์แน่นอน ส่วนเจลแอลกอฮอล์นั้น เราไม่รู้ว่าหลังผสมนู่นนี่มาเป็นเจลแล้ว ความเข้มข้นของ%แอลกอฮอล์จะอยู่ระดับที่เหมาะสมหรือเปล่า ถ้าห่วงเรื่องผิวแห้งหรือมือแหก ต้องการถนอมผิว สามารถทาแฮนด์ครีมตามได้ แบบเจลเค้าก็ใส่กลีเซอรีนหรือลาโนลินอะไรประมาณนั้น เราฆ่าเชื้อเสร็จแล้วตบแฮนด์ครีมตามก็พอกัน ชุ่มชื่นกว่าด้วย <3 

ข้อควรระวังในการใช้เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์
– เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์(แหงสิ)ในปริมาณมาก หากยังไม่แห้ง สามารถติดไฟง่าย ผู้สูบบุหรี่หรือทำงานใกล้ไฟ ควรระมัดระวังในการใช้เป็นพิเศษ
– เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่ถ้าจะออกฤทธิ์ได้ดี ย่อมต้องมีความเข้มข้นที่มากพอ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ฉะนั้น เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ย่อมไม่เหมาะกับเด็กทารก เด็กเล็ก(แรกเกิด-3ขวบ) และบริเวณผิวที่บอบบาง เช่น รอบดวงตา ริมฝีปาก หรือมีบาดแผลเปิด
– แอลกอฮอล์ที่ใช้กับร่างกาย ต้องเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol หรือ Ethanol)เท่านั้น
ในกรณีขาดแคลนเอทิลแอลกอฮอล์ หรือหาไม่ได้จริง ๆ อนุโลมใช้ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ (Isopropyl Alcohol : IPA)ได้
ห้ามใช้เมทิลแอลกอฮอล์เด็ดขาด (Methyl alcohol หรือ Methanol) เพราะเป็นพิษต่อร่างกาย

เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว สิ่งที่ควรรู้และหมั่นทำอยู่เสมอเป็นสิ่งต่อมาได้แก่ การล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดอย่างถูกวิธีคืออย่างไร..
การล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดอย่างถูกวิธี ต้องฟอกมือและนิ้วด้วยสบู่อย่างน้อย20วินาที
การล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดอย่างถูกวิธี ต้องล้าง7ขั้นตอน  หรือต้องไม่ลืมฟอกบริเวณซอกนิ้ว ง่ามนิ้ว ปลายนิ้ว ซอกเล็บ นิ้วหัวแม่มือ และข้อมือ
ต้องไม่ลืมรักษาความสะอาดของเครื่องประดับและสิ่งต่าง ๆ บริเวณข้อมือและนิ้วด้วย เช่น เล็บปลอม แหวน นาฬิกา wearableต่าง ๆ กำไล สร้อยข้อมือ สายสิญจน์ ตะกรุด หินมงคล และอื่น ๆ ๆ ๆ 
ต้องไม่ลืมรักษาความสะอาดของมือ หลังสัมผัสสิ่งของตามที่สาธารณะที่มีความเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อสูง เช่น ปุ่มลิฟต์ ราวบันได(ทั้งเลื่อนและไม่เลื่อน) ลูกบิด มือจับประตู ราวจับรถสาธารณะ ที่จับเปิดปิดประตูภายในรถสาธารณะ เบ้าประตูรถสาธารณะ ตู้ATM เครื่องหรือตู้กดสินค้าและบัตรโดยสารต่าง ๆ มือจับประตูตู้แช่/ตู้เย็นตามร้าน/ซูเปอร์ ฯ รถเข็นตามซูเปอร์ ฯ หน้าโต๊ะตามร้านอาหาร+ศูนย์อาหาร โต๊ะหน้า/ข้างที่นั่งบนเครื่องบินรวมถึงเท้าแขน ประตูห้องน้ำสาธารณะ ฝารองนั่งชักโครก ปุ่มกดชักโครก รวมถึงกลอนประตูและสายฉีดชำระตามห้องน้ำสาธารณะ ก๊อกน้ำตามที่สาธารณะ อุปกรณ์ฟิตเนส ขวดเครื่องปรุงต่าง ๆ เมนู รายการอาหาร รวมถึงนิตยสารส่วนกลางตามสถานที่ต่าง ๆ ปากกาตามเคาน์เตอร์แคชเชียร์/ธนาคาร เก้าอี้โรงหนัง และอื่น ๆ ๆ ๆ คิดง่าย ๆ ว่าอะไรที่คนอื่น ๆ ๆ จับต้องมาก่อน เราก็อาจได้รับเชื้อจากคนอื่น ๆ ๆ ต่อมาได้ด้วย ในสภาวะเช่นนี้มันไม่ใช่การเป็นคุณนายสะอาดค่ะ แต่มันคือหลักสุขอนามัยที่ควรปฏิบัติ


ฝึกสัมผัสสิ่งของตามที่สาธารณะต่าง ๆ ด้วยอวัยวะอื่น ๆ ใด ๆ นอกจากมือ
เช่น ใช้ข้อนิ้วกดลิฟต์ เอาไหล่/บ่า/สะโพกดันประตูบานผลัก ใช้ศอกหรือหลังมือเปิดประตูแบบเขาควายหรือก้านโยก ใช้หลังมือหรือสันมือผลักเปิด-ปิดก๊อกน้ำแบบก้านโยก และอื่น ๆ ก็สามารถช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อโรคสู่นิ้วและมือได้เช่นกัน และขอย้ำอีกทีว่าเราไม่ควรเอามือหรือนิ้วที่ไม่สะอาด มาล้วง-แคะ-แกะ-เกา-ขยี้-สัมผัสตา จมูก ปาก แผลเปิด และเนื้อเยื่ออ่อนอื่น ๆ


รักษาความสะอาดของมือแล้ว อย่าลืมหมั่นทำความสะอาดของสิ่งของเครื่องใช้ที่มือและนิ้วสัมผัสบ่อยด้วย
เช่น โทรศัพท์มือถือรวมถึงเคส โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต คีย์บอร์ด เม้าส์(คอมพ์) กระเป๋าเงิน บัตรพนักงาน กุญแจ รีโมต คอนโทรลเกม สวิชต์เปิดปิดไฟ ลูกบิดประตูและอื่น ๆ มือจับตู้เย็นและอื่น ๆ ก๊อกน้ำทั้งห้องน้ำและในครัว สายฉีดชำระ ถังขยะ และอื่น ๆ ๆ ๆ

ทำความสะอาดด้วยอะไรดี???
– แอลกอฮอล์ นอกจากจะไม่เป็นมิตรกับผิวนุ่ม ๆ ของคนเราแล้ว ยังไม่เป็นมิตรกับสีที่ใช้เคลือบโลหะและพลาสติกอีกด้วย และถึงตัวแอลกอฮอล์เองจะไม่ได้ทำให้โลหะเกิดสนิม แต่มันเอื้อให้โลหะเป็นสนิทง่ายขึ้น
– Bleach หรือน้ำยาฟอกขาว แม้เจือจางแล้วก็ตาม แน่นอนว่าอาจทำให้ผ้าด่าง ทำให้ไนลอนเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หนังสัตว์จะเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว ไม่ดีกับพวกโลหะเช่นกัน
– น้ำยาฆ่าเชื้อด.ชื่อดัง สูตรที่มีส่วนผสมของChloroxylenol ก็ไม่ค่อยถูกกับพวกหนังเทียมสักเท่าไหร่ (ส่วนสูตรที่มี4-Chloro-3-methylphenol นั้น ห้ามใช้กับร่างกายโดยตรงอยู่แล้ว) ตามนี้

แล้วทางเลือกอื่น ๆ มีอะไรบ้าง..
Chlorhexidine Gluconate หรือ Chlorhexidine ในความเข้มข้นที่มากพอ เป็นอีกหนึ่งทางออกที่ดี นิยมใช้ตามโรงพยาบาลทั่วไป หลังใช้จะมีฤทธิ์คงค้างอ้อยอิ่งสามารถปกป้องพื้นผิวได้อีกระยะหนึ่ง สามารถใช้ได้แทบทุกพื้นผิว ต่างประเทศก็มีขายหลากหลายรูปแบบ พลิกหลังขวดหรือเสิร์ชกูเกิ้ลดูกันได้ 

ผลิตภัณฑ์ที่มี Chlorhexidine มีจำหน่ายในหลายประเทศ และมีหลายรูปแบบ แนะนำวิธีใช้ดังนี้
– น้ำยา/สบู่เหลวที่มีChlorhexidine Gluconate หรือ Chlorhexidine 4% ขึ้นไป
ใช้ร่วมกับน้ำในการ“ฟอก”มือให้สะอาดอย่างน้อย20วินาที แล้วล้างน้ำให้สะอาดตามวิธีข้างต้น หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง อาชีพเสี่ยง ควรล้างแล้วฟอกซ้ำสองรอบ

ตามท้องตลาดมีหลายยี่ห้อ เลือกได้ตามศรัทธา ราคาที่ขายในเน็ตรวมค่าส่งที่รับได้คือ 500ml+- ประมาณ 180-230บาท+-
ถ้าครอบครัวใหญ่ ยิ่งซื้อแกลลอน 5 ลิตรยิ่งถูก บางยี่ห้อรวมส่งเหลือ 900บาท+- ก็มี
ซื้อตามร้านขายยาน่าจะได้ถูกกว่านี้ ต่างประเทศก็มีเยอะ ถ้าเจอเป็นแชมพูน้องหมา อย่าตกใจ นั่นก็ใช่จ้ะ..

– น้ำยาบ้วนปากสูตรที่มีChlorhexidine Gluconate หรือ Chlorhexidine เวลาใช้ให้เจือจางน้ำ 2-3 เท่า.. เปล่าเน้อ ไม่ได้ให้เอามาบ้วนปากแต่อย่างใด แต่ให้เอามาใช้ร่วมกับสำลี ชุบน้ำยาบ้วนปากสูตรดังกล่าวที่เจือจางแล้ว บีบหมาด เช็ดทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ที่มือและนิ้วสัมผัสบ่อยตามข้างต้น

และให้เอามาใช้ร่วมกับทิชชู่เปียก (แนะนำยี่ห้อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือยี่ห้อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกกก ที่คนก็ใช้ได้) ถ้าทิชชู่เปียกนั้นชุ่มมาก ก็บีบให้แห้ง ๆ หน่อย เช็ดทำความสะอาดสิ่งของก่อนจับ หรือห่อหุ้มมือและนิ้วเวลาต้องสัมผัสสิ่งของตามที่สาธารณะที่มีความเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อสูงตามข้างต้น

อาจมีคนสงสัยว่า อ้าว ทำไมเช็ดของให้ใช้กับสำลี แต่เวลาไปนอกบ้านหรือห่อมือและ/หรือนิ้ว ให้ใช้ทิชชู่เปียก.. ที่แนะนำว่าเวลานอกบ้านใช้กับทิชชู่เปียก (หรือถ้าไม่กลัวพกลำบาก จะใช้กระดาษอเนกประสงค์สำหรับงานครัวก็ได้จ้ะ) เพราะ
– แผ่นใหญ่ แผ่นนึงห่อได้ทั้งมือ
– ไม่ยุ่ยหรือขาดง่าย
ลองนึกภาพว่าเราขึ้นรถไฟฟ้างี้ ก่อนเข้าสถานีก็จัดไปเลยแผ่นนึง+น้ำยาบ้วนปากที่เจือจางแล้ว ห่อมือห่อนิ้วแตะเรื่อยไปตั้งแต่จับราวบันได กดซื้อบัตร ห่วงจับ จนถึงสถานีปลายทาง.. เสร็จแล้วทิ้งลงถังขยะให้เป็นที่เป็นทางนะจ๊ะ ระวังอย่าเผลอเอาทิชชู่เปียกที่อุดมเชื้อโรคนั่นมาเช็ดหน้าล่ะ

ห้องน้ำสาธารณะ.. จัดไปทิชชู่เปียก+น้ำยาบ้วนปากที่เจือจางแล้ว เช็ดมือไม้ เช็ดฝารองนั่งชักโครก+ปุ่มกดชักโครกสาธารณะ เช็ดกลอนประตู สายฉีดชำระ ทิ้งในถังขยะให้เป็นที่เป็นทาง อย่าเผลอทิ้งลงชักโครกล่ะ เสร็จแล้วไหน ๆ ก็เข้าห้องน้ำทั้งที จัดไปอีกจ้ะ ล้างมืออย่างถูกวิธีด้วยสบู่เหลว+น้ำ จะพกน้ำยา/สบู่เหลวที่มีChlorhexidine Gluconate ใส่ขวดน้อยติดตัวไว้ก็ยิ่งดี ล้างมือให้สะอาดอย่างถูกวิธีตามที่เน้นย้ำซ้ำ ๆ โดยจะมีจิตสาธารณะ ฟอก ๆ ฟองที่ก๊อกเผื่อ ๆ หน่อยก็ได้ ระวังอย่าให้เปียกไปทั่วละกัน เดี๋ยวแม่บ้านค้อน..

หรือหากต้องนั่งเครื่องบินก็จัดไปเลยยย อย่างแรกโต๊ะพับหน้า/ข้างที่นั่ง เรื่อยไปถึงเท้าแขน กระเป๋าหน้าที่นั่ง และอื่น ๆ ตามแต่ว่าที่นั่งจะอลังการขนาดไหน หรือหากชอบนั่งริมหน้าต่างแล้วชอบพิงหน้าต่าง ก็คลีน ๆ หน้าต่างและกรอบหน่อยก็ดี เพราะถึงบนเครื่องบินจะมีการฆ่าเชื้อแล้วก็ตาม แต่ตามโต๊ะพับหน้า/ข้างที่นั่งและซอกหลืบต่าง ๆ นั้น.. ก็นั่นล่ะนะ หลายบทความแนะนำให้ใช้แอลกอฮอล์ แต่เราไม่แนะนำ เพราะนอกจากแอลกอฮอล์จะไม่เป็นมิตรกับโลหะและพลาสติกแล้ว แอลกอฮอล์ยังทำให้ติดไฟง่าย ซึ่ง Chlorhexidine Gluconate ที่เจือจางแล้ว จะไม่ติดไฟ จึงเหมาะกับการใช้ฆ่าเชื้อบนเครื่องบินมากกว่า *สอบทานกับนักเคมีแล้ว*

ข้อควรระวังคืออย่าใช้ทิชชู่เปียกร่วมกับน้ำยาบ้วนปากที่เจือจางเกินไป เพราะจะ.. เจือจางเกินไปนั่นน่ะแหละ ทิชชู่เปียกก็มีความเปียกในตัวอยู่แล้วเนอะ เดี๋ยวจะยิ่งเจือจางไปกันใหญ่ จะฆ่าเชื้อไม่ได้เอา อย่าลืม ๆ 

อาจมีคนสงสัยต่อว่า อ้าว แล้วงี้ใช้ทิชชู่เปียกที่มีแอลกอฮอล์ แผ่นแอลกอฮอล์เปียกที่ไว้เช็ดฆ่าเชื้อไม่ดีกว่าเหรอ ก็ต้องบอกว่า อย่างแรกนั้น อาจมีปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์น้อยเกินไป ให้อ่านรายละเอียดให้ดีก่อนซื้อและใช้ และอย่างที่สองก็คือต้องไม่ลืมว่าแอลกอฮอล์นั้น ไม่เป็นมิตรกับพวกโลหะหรือพลาสติกสักเท่าไหร่ ช่วยกันรักษาของสาธารณะเนอะ

และโปรดไม่ลืมว่าแอลกอฮอล์เป็นสิ่งสำคัญในการทำหัตถการหลายอย่าง ซึ่งไม่สามารถใช้สิ่งอื่นมาทดแทนได้ ไม่ว่าจะเป็น..
ทำความสะอาดผิว ก่อนเจาะเลือดเพื่อตรวจวินิจฉัย
ทำความสะอาดผิว ก่อนเจาะเส้นเลือดเลือดเพื่อให้สารน้ำ
ทำความสะอาดผิว ก่อนเจาะเส้นเลือดเลือดเพื่อให้ยา
ใช้กับผู้ป่วยเบาหวานฉีดอินซูลิน
ใช้กับผู้ป่วยฟอกไต
ใช้กับผู้ป่วยคีโม
รวมถึง ใช้กับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยวิกฤต ผู้พิการ และอื่น ๆ อีกมาก

การที่ประชาชนทั่วไปแห่ซื้อแห่ตุนแอลกอฮอล์ทั้งชนิดน้ำ และชนิดแผ่นเช็ดเพียงเพื่อไปใช้เช็ดฆ่าเชื้อตามพื้นผิว ทั้ง ๆ ที่ตัวแอลกอฮอล์เองก็ไม่ได้เหมาะสมในการเช็ดทำความสะอาดทุกพื้นผิว อีกทั้งยังมีสารอื่น ๆ อีกมากมายที่ประชาชนทั่วไปสามารถเลือกใช้ทำความสะอาดพื้นผิวและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้นั้น ภาวะขาดแคลนแอลกอฮอล์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ จึงส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้ป่วย เด็ก และผู้สูงอายุที่”จำเป็น”ต้องใช้แอลกอฮอล์จริง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วอนทุกท่านโปรดพิจารณา

ส่วน“อื่น ๆ ใด ๆ ” ก็ตามที่โฆษณาว่า“ฆ่าเชื้อได้99.99%”นั้น มีวิธีพิจารณาดังนี้
– ต้องถาม(ตัวเอง)กลับว่า 99.99% ที่ว่านั้น เมื่อเทียบกับอะไร
– 99.99% เมื่อใช้ในความเข้มข้นระดับไหน.. แล้วในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ใช้ที่ความเข้มข้นกี่% มีกี่%
– พึงระลึกเสมอว่าสิ่งใดที่อ่อนโยนต่อผิวคน ก็มักจะอ่อนโยนกับเชื้อโรคเช่นกัน.. นะจ๊ะ
ขนาดแอลกอฮอล์ในความเข้มข้นที่มากไป หรือน้อยไป ยังไม่ได้ผลเลยเท้ออออ.. (ใครงง สามารถอ่านทวนข้างบนได้อีกรอบ)

ทั้งนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองสายออร์แกนิค.. พึงระวังให้มาก.. “ใด ๆ ” ที่โฆษณาว่าอ่อนโยนต่อผิวลูก เด็กอ่อนสามารถใช้ได้ มีงานวิจัยรับรอง บลา ๆๆๆ นั้น.. เพื่อความปลอดภัยของลูกรัก ว่าจะไม่เป็นการเลี่ยงสารเคมี แต่กลายเป็นว่าความออร์แกนิคนั้นฆ่าเชื้อโรคไม่ได้ เลยเปิดช่องให้เชื้อโรคจู่โจมสู่ลูกหลานได้ซะงั้น ขอให้ใช้วิจารณญาณเป็นอย่างมาก 
ถามผู้ผลิต/แบรนด์ – ว่าถ้างั้นแล้วใช้สารอะไรในการฆ่าเชื้อ 
ตรวจสอบและตรวจทาน – จากแหล่งข้อมูลหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือได้ว่าสารนั้นสามารถฆ่าเชื้อได้จริง มีผลวิจัยที่เชื่อถือได้ ไม่biasรับรอง และไม่ใช่แค่ฆ่าเชื้อในหลอดทดลอง หรือฆ่าเชื้อในร่างกายมนุษย์ แต่เป็นเชื้อที่อยู่นอกร่างกาย เพราะเป้าหมายหลักตอนนี้ของเราคือ “ป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเด็ก” 
เด็กทารก เด็กเล็ก(แรกเกิด-3ขวบ) ไม่ควรใช้สารฆ่าเชื้อใด ๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะออร์แกนิคหรือไม่ออร์ ฯ  สารสกัดหีบร้อนหีบเย็นจากธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพรทะเลใหญ่อะไรก็ตาม ยกเว้นแพทย์แผนปัจจุบันสั่งเท่านั้น สิ่งที่สามารถป้องกันการรับเชื้อโรคสู่เด็กวัยอ่อนนี้ได้ดีที่สุดคือควรงดเว้นการพาไปที่ชุมนุมชนหากไม่จำเป็น.. จำเป็นที่นี้หมายถึงจำเป็นจริง ๆ เช่น ไปโรงพยาบาลตามนัด ไม่ใช่แบบ.. คุณแม่จำเป็นต้องไปเดินห้างช้อปปิ้งแหละ คุณลูกไปกันนะ.. ไม่เอาเน้อ -_-

อาจมีคนสงสัยต่อ.. ว่า.. ถ้ายุ่งยากกกกกก ขนาดนี้ ใส่ถุงมือไปเลยดีมะ ไม่ต้องคอยล้าง..
ไม่แนะนำให้ใช้ถุงมือ เพราะหากไม่รักษาความสะอาด นั่นคือแหล่งรวมเชื้อโรคชั้นดีเลยล่ะ
เคยเห็นไหม แม่ค้าที่ใส่ถุงมือแต่ก็หยิบจับทุกอย่างตั้งกะอาหาร ขวดเครื่องปรุง ทอนตัง ไปจนกระทั่งเกาหัว บีบสิว.. นั่นแหละ เห็นภาพเนาะ
แล้วเชื่อเหอะว่าเวลาใส่ถุงมือไปนอกบ้านเนี่ย อย่างน้อยต้องเผลอจับหน้าเกาจมูกตัวเองบ้างล่ะ จบกันเลยทีนี้..
ยิ่งถ้าถุงมือเป็นพลาสติก ก็ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยใช่ไหมล่ะ เลี่ยงได้เลี่ยงเถอะเนอะ..

หมั่นรักษาความสะอาดของมือ นิ้ว และข้าวของเครื่องใช้อยู่เสมอ
ต้องไม่ลืมว่าแม้หลังล้างมืออย่างถูกวิธีแล้ว หากเราอยู่ในที่สาธารณะ ต้องสัมผัสหยิบจับสิ่งต่าง ๆ หรือพบผู้คนมากหน้าหลายตา ก็สามารถRecontaminate หรือรับเชื้อผ่านทางการสัมผัสได้อีกเช่นกัน

แนะนำทั้งล้างทั้งเช็ดจนสะอาดเอี่ยมทั้งมือและสิ่งของแล้ว.. แล้วอย่างนี้ หน้ากากอนามัยยังจำเป็นไหม?!?? ถ้าพร้อม ไปต่อกันเลยจ้ะ 

ตอน2-ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยสารเครื่องบินอย่างไรให้ไกลโรค วิธีรับมือและทางเลือกที่มากกว่าแอลกอฮออล์ในการป้องกันโรคCOVID-19

https://wan-nam.com/2019-ncov-part2/

ตอน3-วิธีเตรียมตัวเผื่อถูกกักกันตัวเองอยู่บ้าน หรือหากมีเหตุจำเป็นใด ๆ ที่ทำให้ออกนอกหรือละทิ้งเคหสถานไม่ได้จากโรคCOVID-19
https://wan-nam.com/2019-ncov-part3/

บทความนี้ ผ่านการตรวจทานของแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ Spartan Doctor และนักเคมีนามกระเดื่องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้
อ่านเพิ่มเติม+อ้างอิง รวมอยู่ท้ายตอน2

ติดตามว่านน้ำได้ที่ https://www.facebook.com/wannamdotcom/ 
อ่านแล้วชอบ อ่านแล้วดี มีประโยชน์ สนับสนุนว่านน้ำได้ที่ https://www.paypal.me/WannamCom 
หรือ
ธนาคารกสิกรไทย Kasikornbank
Swift code : KASITHBK
Account Number : 030-3-90589-8
Account Name : Phaninsudha
มากน้อยไม่ว่ากัน คิดซะว่าเหมือนเลี้ยงกาแฟว่าน อย่าง Buy me a Coffee หรือ Patreon 
ขอบคุณทุกการสนับสนุนนะคะ ?