เมื่อสามปีก่อน การบินไทยเปิดตัว“สำรับ” ชุดอาหารสำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจ ในครั้งนั้น ว่านได้รับเกียรติจากการบินไทย เป็นOnline Influencer เพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับเชิญไปร่วมพรีวิว“สำรับ”ในครั้งนั้น https://www.facebook.com/media/set/?set=a.959313047444532&type=1&l=904a241f5b
 
ในครั้งนั้น ว่านว่าการบินไทยทำได้น่ารักดี มีการดึงเอาเสน่ห์ไทยคือstreet food เข้ามาเสริมใน “สำรับ” เมื่อมาครั้งนี้ สามปีผ่านไป การบินไทยเปิดตัว“สำรับไทยตำรับดั้งเดิม” ชุดอาหารสำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจชุดใหม่ และว่านน้ำก็ได้รับเกียรติจากการบินไทยอีกครั้ง เลยอดสงสัยไม่ได้ว่าคราวนี้การบินไทยจะมีอะไรมาให้ตื่นตาตื่นใจกันนะ.. ไปชมกันเลยค่ะ 


สำรับอาหารไทย ชุดที่1
– ต้มโพล้งกุ้ง – แกงเนื้อพริกขี้หนู – ปลาสามรส – กะหล่ำปลีผัดน้ำปลา – ข้าวสองสหาย – หมูแดดเดียว – ขนมกล้วยมะพร้าวแก้ว

เป็นที่ยอมรับกันว่าปัจจุบันนี้ การจะ “ขาย”ให้ “ดี”หรือให้ “ปัง” นอกจากคุณภาพของสินค้าและ/หรือบริการเองแล้ว “เรื่องราว”ก็เป็นส่วนเสริมที่สำคัญส่วนหนึ่งที่จะทำให้สินค้าและ/หรือบริการนั้น ๆ น่าสนใจขึ้นมา “สำรับไทยตำรับดั้งเดิม” นี้ก็เช่นกัน.. “เรื่องราว”แรกนั้นก็คือทางการบินไทยได้เรียนเชิญผศ. ศรีสมร คงพันธุ์ “ตำนาน”ที่ยังมีชีวิตด้านอาหารไทยมาเป็นผู้ให้ความรู้ ให้คำแนะนำในศาสตร์การจัดสำรับอาหารไทยว่าควรรับประทานอะไรแนมคู่กับอะไรเพื่อเสริมหรือตัดรสกัน


อาหารเรียกน้ำย่อยของสำรับอาหารไทยชุดที่1

ความใส่ใจของอาจารย์ศรีสมรเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบและส่วนผสมที่ไม่มีกลิ่นรุนแรง เหมาะกับการให้บริการผู้โดยสารนานาชาติสามารถรับประทานได้  และเน้นการใช้วัตถุดิบตามฤดูกาลที่มีในประเทศเพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริม และกระจายรายได้สู่เกษตรกร อาจารย์ศรีสมรยังทำงานร่วมกับฝ่ายบริการบนเครื่องบินอย่างใกล้ชิด โดยให้ความรู้ ประวัติความเป็นมาของสำรับไทย เพื่อให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสามารถนำไปถ่ายทอดบอกเล่าให้ผู้โดยสารได้รับรู้ เป็นการใช้ศาสตร์ของStory Telling และ Content Marketing ในการเผยแพร่เรื่องราวของความเป็นไทยผ่านอาหาร“สำรับไทยตำรับดั้งเดิม”นั่นเอง 


อาหารเช้าของสำรับอาหารไทยชุดที่1
– ข้าวต้มไก่สมุนไพร – ไข่เจียวสยาม (ตะไคร้/หอมแดง/โหระพา)

อย่างต้มโพล้งกุ้งในสำรับอาหารไทย ชุดที่1นั้น แม้ชื่อจะละม้ายต้มโคล้ง แต่มีความต่างกัน อาจารย์ศรีสมรเล่าว่าต้มโพล้งเป็นคำเก่า หมายถึงต้มที่มีน้ำมาก ไว้รับประทานแก้เผ็ดได้คล่องคอ รสออกหวาน ส่วนผสมก็ต่างจากต้มโคล้ง เพราะต้มโพล้งจะใช้ปลาสลิดแดดเดียว ไม่ใช่ปลากรอบ แล้วยังใส่กุ้งและหมูสามชั้นอีกด้วย เครื่องอย่างหอมแดงก็ต้องโขลกให้ละเอียด 

หรือแกงเนื้อพริกขี้หนู ดูเผิน ๆ ก็คล้ายแกงเขียวหวานเนื้ออีกแหละ แต่มีความต่างกัน นับตั้งแต่เครื่องแกงจะมียี่หร่า ลูกผักชีมากกว่าเครื่องแกงเขียวหวาน รสชาติก็จะเผ็ดกว่าแกงเขียวหวานอยู่สักเล็กน้อย และไม่ใส่มะเขือพวง

มาดูสำรับอาหารไทยชุดที่2กันบ้าง 

สำรับอาหารไทยชุดที่2
– ต้มจิ๋วเนื้อ – แกงจีนจ๊วนไก่ – พริกขิงปลาแซลมอน – หมูผัดหวาน – ข้าวสองสหาย – ถั่วหวานผัดกระเทียม – สาคูเปียกใบเตยมะพร้าวอ่อน

ต้มจิ๋วเนื้อนี่มีเรื่องเล่าได้เป็นหน้า ๆ  .. สำหรับคนที่พึ่งเคยได้ยิน ต้มจิ๋วเป็นอาหารเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ด้วยทรงพระประชวร เบื่อพระกระยาหาร ทางห้องเครื่องจึงคิดหาอาหารที่จะช่วยให้พระองค์เสวยได้คล่องคอ โดยการใช้มันเทศแทนข้าว ต้มกับเนื้อวัวเปื่อย เครื่องทุกอย่างหั่นพอดีคำเป็นที่มาของชื่อ ใส่สมุนไพรมากสรรพคุณนานาชนิด เช่นใบกะเพรา โหระพา หอมแดง และพริก มีรสเปรี้ยวเค็ม เผ็ดพอสะดุ้งลิ้น จนกลายเป็นอาหารทรงโปรด.. แต่ก่อนหารับประทานยาก เดี๋ยวนี้เห็นหลายครัวทำกันมากขึ้น น่ายินดี 

แกงจีนจ๊วน นี่ก็ชื่อแปลกอีกแล้ว ชื่อจีน แต่มีที่มาจากแกงแขกชวา นัยว่าเป็นอาหารชาววังที่ได้รับมาครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสชวา บ้างเรียกแกงจี๋จ๋วน ความแปลกของแกงนี้คือใส่พริกหยวก และที่ขาดไม่ได้คือส้มซ่า


อาหารเรียกน้ำย่อยของสำรับอาหารไทยชุดที่2


อาหารเช้าของสำรับอาหารไทยชุดที่2
– ข้าวต้มต้มยำกุ้ง – ไข่เจียวสองรส ใช้ไข่สดและไข่เค็ม
ความเค็มของไข่เจียวสองรสนี้ จะได้จากไข่ขาวของไข่เค็มสด ไม่ใส่เกลือหรือน้ำปลาเลย

สำรับอาหารไทยชุดที่3 ก็เป็นอีกชุดหนึ่งที่มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมากมายอีกแล้ว  
สำรับอาหารไทยชุดที่3
– ไก่ต้มข่าอ่อน – แกงฮังเลหมู – ปลากะพงทอดผัดฉ่า – หมูเปียเอื้องหลวง – ข้าวสองสหาย – ผักกาดดองผัดไข่ – บวดลูกตาลแปะก๊วย

ความใส่ใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ปรากฎใน“สำรับไทยตำรับดั้งเดิม”อย่างแนบเนียนเช่นว่าบางเมนูที่ใส่ถั่วลิสงนั้นก็จะงดเว้นเสีย เพราะเป็นส่วนผสมที่ชาวตะวันตกมักแพ้ หรือวัตถุดิบบางอย่างที่มีกลิ่นฉุนรุนแรง  ก็จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นที่ยังให้รสอร่อยได้คล้ายกัน อย่างหมูเปียที่แต่เดิมใส่ปลาเค็ม เมื่อเป็นหมูเปียเอื้องหลวง ก็จะยักย้ายเป็นใส่หัวไชโป๊เค็มแทน แต่งกลิ่นโดยสามเกลอ รากผักชี กระเทียม พริกไทย


อาหารเรียกน้ำย่อยของสำรับอาหารไทยชุดที่3 

ไก่ต้มข่าอ่อนก็จะโขลกเครื่องต้มข่า เช่นข่าแก่ ตะไคร้ หอมแดงให้ละเอียด เพราะธรรมเนียมการกินของฝรั่งนั้น อะไรที่ใส่มาในถ้วยจะต้องกินได้ทั้งหมด เวลามาเจอกับวัฒนธรรมผักชูรสชูกลิ่นของเรา เลยมักเห็นฝรั่งกัดข่ากัดตะไคร้ ทำหน้างง ๆ แล้วทิ้งข่าตะไคร้ที่มีรอยกัดไว้ในชามเวลาเจอต้มข่าอยู่บ่อย ๆ ฉะนั้นเพื่อที่จะให้ชาวต่างชาติ “กินง่าย” ทั้งยังได้คุณค่าครบถ้วน จึงโขลกเครื่องต้มข่าไปเสียเลย 
 

บวดลูกตาลแปะก๊วย ดีงามทุกสิ่งอัน ลูกตาลนุ่ม กะทิหวานนวลกำลังดี มีเค็มตัดรสนิด ๆ อยากให้ทำขายด้วยซ้ำ ได้อุดหนุนประจำแน่นอน  


อาหารเช้าของสำรับอาหารไทยชุดที่3
– ข้าวต้มกุ้ง – ไข่เจียวสมุนไพร (ใบมะกรูด/หอมแดง/พริกแดง)

ต้องไม่ลืมว่าการทำอาหารสำหรับเสิร์ฟบนเครื่องบินนั้น มีขั้นตอนมากกว่าการทำอาหารเสิร์ฟตามร้านอาหารมากมายนัก นับตั้งแต่คุณภาพวัตถุดิบ ต้องได้มาตรฐาน ปลอดสารพิษ การคัดล้าง หั่น ตัด ทั้งยังต้องผ่านกระบวนการทั้งปรุง แล้วลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็วด้วยกรรมวิธีBlast Chiller อุ่นซ้ำเมื่ออยู่บนเครื่อง ไหนจะประสาทการรับรสของคนเราเมื่ออยู่บนฟ้าก็จะเปลี่ยนไป ลิ้นจะไวต่อรสน้อยลง โดยความสะอาดและความปลอดภัยของอาหารนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญสูงสุด การทำอาหารสำหรับให้บริการบนเครื่องบินนั้นจึงไม่ง่ายเลย 


 

มารับฟังเรื่องราวของสำรับอาหารไทยชุดที่4 กันบ้าง
สำรับอาหารไทยชุดที่4
– แกงจืดลูกรอก – ไก่แห้งแกงคั่ว – แกงกะหรี่หมู – หมูฝอยแดดเดียว – ผัดเปรี้ยวหวาน – ข้าวสองสี – ทับทิมกรอบอัญชัน

อย่างแกงจืดลูกรอก (ย้ำว่าลูกรอก อย่าอ่านเป็นลูกกรอก) เป็นสิ่งที่แสดงได้ดี ถึงความพิถีพิถันในการทำอาหาร นับตั้งแต่นำส่วนผสมของไข่ไก่มากรอกใส่ไส้หมู แล้วนำไปต้มแล้วตัดเป็นปล้องสั้น ๆ เมื่อต้มอีกที ไข่จะบานออก ไส้จะรั้งกลาง ดูคล้ายลูกรอกจิ๋ว ๆ เล่าแค่นี้ต่างชาติคงทึ่งในความอุตสาหะ 

หรือไก่แห้งแกงคั่วและแกงกะหรี่หมูอย่างไทย ก็เป็นอาหารที่อุดมด้วยสมุนไพร ไก่แห้งแกงคั่ว จะเน้นความเผ็ดร้อนจากเครื่องเทศอย่างยี่หร่าและลูกผักชี แกงกะหรี่หมูนั้น ช่วยขับลมด้วยขมิ้น และก่อนจะนำหมูและมันฝรั่งมาแกง ต้องทอดเสียก่อนด้วยน้ำมันเจียวหอมก่อน  


  
มาถึง“สำรับไทยตำรับดั้งเดิม” ชุดอาหารสำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจชุดที่5 ซึ่งเป็นชุดสุดท้าย

สำรับอาหารไทยชุดที่5
– ซุปสันในหมู – แกงเขียวหวานไก่ขมิ้นขาว – พะแนงเนื้อ – ปลาสลิดทอดกรอบ – ผัดผักสองสหาย (ถั่วหวานและแครอท) – ข้าวสองสี – ข้าวเหนียวดำเปียกลำไย


อาหารเรียกน้ำย่อยของสำรับอาหารไทยชุดที่5 

แกงเขียวหวานไก่ขมิ้นขาว ใช้ขมิ้นขาวแทนมะเขือพวง สีสันนั้นก็จะอ่อนเขียวกว่าแกงเขียวหวานทั่วไป เพราะเลือกใช้แต่พริกขี้หนูสีเขียว ไม่ใช้พริกชี้ฟ้าเขียวสำหรับเครื่องแกง 

พะแนงเนื้อ ชื่อพะแนงเชื่อกันว่ามีที่มาจากคำว่าแกงแผลง คือแผลงมาจากแกงแดงแต่เดิม 

ซุปสันในหมู หรือหมูปรุงรส จะเลือกใช้แต่สันในหมูต้มกับขิง ข่า ตะไคร้ มีพริกแดง และกระเทียมโขลกละเอียดเข้ากับน้ำปลาและน้ำมะนาวให้คนกินปรุงเองตามใจชอบ 

นอกจาก“สำรับไทยตำรับดั้งเดิม” ชุดอาหารสำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจแล้ว ยังได้ชม“สำรับ” ชุดอาหารสำหรับผู้โดยสารชั้นเฟิร์สคลาสปัจจุบันอีกด้วย ซึ่งก็จะมีการยกระดับเป็น“สำรับไทยตำรับดั้งเดิม” สำหรับผู้โดยสารชั้นเฟิร์สคลาสต่อไป.. ของเดิมยังจัดเต็มขนาดนี้ ๆ ๆ ๆ ต้องคอยติดตามแล้วล่ะค่ะ ว่าถ้าเป็น“สำรับไทยตำรับดั้งเดิม” สำหรับผู้โดยสารชั้นเฟิร์สคลาสจะอลังการขนาดไหน..  

ในวันนั้นว่านยังได้ลอง “สำรับไทยตำรับดั้งเดิม” ที่ผ่านกรรมวิธีทุกขั้นตอนเสมือนหนึ่งการให้บริการบนเที่ยวบินทุกประการ คือผ่านการปรุง – เข้าBlast Chiller – Reheat ไม่ใช่ปรุงสุกใหม่แล้วนำมาให้รับประทานเลย (จะขาดก็แต่กินที่ความสูง 30,000ฟุต+- นี่แหละ ( ^_^ ) ) นับได้ว่าหลายเมนูรสชาติดีทีเดียวค่ะ โดยเฉพาะแกงต่าง ๆ 

เนื่องจากอาหารสำรับไทยตำรับดั้งเดิมนั้นมีหลายคอร์ส จึงไม่เหมาะที่จะเสิร์ฟในเที่ยวบินสั้น ๆ อย่างสิงคโปร์หรือฮ่องกง การบินไทยจึงเริ่มให้บริการ“สำรับไทยตำรับดั้งเดิม”แก่ผู้โดยสารชั้นธุรกิจในเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปยังปารีส ฝรั่งเศส, แฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี, ซูริค สวิส, ลอนดอน อังกฤษ และซิดนีย์ ออสเตรเลีย และมีแผนที่จะขยายการบริการอาหาร“สำรับไทยตำรับดั้งเดิม”นี้แก่ผู้โดยสารชั้นธุรกิจในเส้นทางออกจากกรุงเทพฯ สู่ยุโรป และออสเตรเลียทุกจุดบินภายในต้นปี 2019 

นอกเหนือจาก“สำรับไทยตำรับดั้งเดิม”แล้ว ความรุกหนักในด้านการช่วงชิงความเป็นจ้าวอาหารบนน่านฟ้าของการบินไทยยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ การบินไทยยังเปิดตัวมิชลินสตาร์สตรีทฟู้ด (Michelin Star Street Food) ของการบินไทย โดยเจ๊ไฝ สตรีทฟู้ดเจ้าแรกของไทยที่ได้ 1 ดาวมิชลินสตาร์ เพื่อให้บริการผู้โดยสารในเฟิร์สคลาสและชั้นธุรกิจ เมนูที่เลือกสรรมาให้เหมาะกับการเสิร์ฟบนเครื่องบินได้แก่ผัดขี้เมาทะเล ปูผัดผงกะหรี่ และคะน้าผัดเป๋าฮื้อญี่ปุ่น

น่าจับตามองจริง ๆ ค่ะว่าก้าวต่อไปของการบินไทยจะเป็นอะไร โปรดติดตามนะคะ 


พริกขิงล็อบสเตอร์จาก “สำรับ” ชุดอาหารสำหรับผู้โดยสารชั้นเฟิร์สคลาสปัจจุบัน

ขอบคุณการบินไทยที่เชิญว่านน้ำไปร่วมสัมผัส“สำรับไทยตำรับดั้งเดิม” ชุดอาหารสำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจ การบินไทย

ติดตามหลากหลายความexclusive ในแบบฉบับว่านน้ำได้ที่ https://www.facebook.com/wannamdotcom/