คู่มือ MICHELIN GUIDE BANGKOK หรือ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับกรุงเทพ ฯ เล่มปฐมฤกษ์จะประกาศผลวันที่ 6 ธันวาคมนี้ แล้วทำไมเราต้องตื่นเต้นล่ะ??
ไม่เพียงแต่เพราะคู่มือMichelin Guide มีประวัติอันยาวนานมานับร้อยปี
ไม่เพียงแต่เพราะดาวมิชลินเป็นเหมือนเกียรติยศแห่งชีวิตเชฟหลายคน
เพราะนี่คือ.. ดาวมิชลิน
Sukiyabashi Jiro, Tokyo มิชลิน3ดาว
คู่มือMichelin Guide ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1900 ให้ผู้ขับขี่พกพาติดรถไว้ในยามเดินทางเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องของข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะร้านอาหารและที่พัก ระดับดาวมิชลินซึ่งสูงสุด 3 ดาว มีความหมายดังนี้
1ดาวมิชลิน: ร้านอาหารที่อร่อยมากเมื่อเทียบกับร้านประเภทเดียวกัน “A very good restaurant in its category” (Une très bonne table dans sa catégorie)
2ดาวมิชลิน: ร้านอาหารที่อร่อยเลิศคุ้มค่ากับการขับออกนอกเส้นทางเพื่อไปชิม “Excellent cooking, worth a detour” (Table excellente, mérite un détour)
3ดาวมิชลิน: ร้านอาหารที่ยอดเยี่ยมเหนือคำบรรยาย ควรค่าแก่การเป็นจุดหมายเพื่อให้ได้ไปชิมซักครั้ง “Exceptional cuisine, worth a special journey” (Une des meilleures tables, vaut le voyage)
แน่นอนว่าเมื่อผู้อ่านเห็นดาวมิชลินที่การันตีไว้อย่างเย้ายวนเช่นนี้ ย่อมต้องยอมออกนอกเส้นทางหรือแม้แต่ขับรถเพื่อตามไปชิมแน่ ๆ เมื่อขับรถไปไกล ยางรถก็ย่อมต้องสึกหรอมาก ก็มีอันจะต้องเปลี่ยนยาง และธุรกิจหลักของมิชลินก็คือบริษัทยางรถยนต์นั่นเอง นับว่าคู่มือMichelin Guide เป็นContent Marketing ชิ้นแรก ๆ ของโลกก็ว่าได้
Paste กรุงเทพ มิชลิน1ดาว
แล้วการจะได้มาซึ่งดาวแต่ละดวง ใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินล่ะ?? คนส่วนมากมักเข้าใจผิดว่าร้านที่ได้ประดับดาวมิชลิน จะต้องมีบริการดีเยี่ยม มีการตกแต่งที่หรูเลิศ แต่จริง ๆ แล้ว Inspector หรือผู้ตรวจสอบจากมิชลิน จะพิจารณาการให้ดาวจากเกณฑ์การตัดสิน 5 ข้อนี้เท่านั้น
1. คุณภาพของวัตถุดิบ
2. ความชำนาญและเทคนิคในการประกอบอาหาร
3. ตัวตนของเชฟที่สะท้อนอยู่ในอาหาร
4. ความคุ้มค่าสมราคา
5. ความเสมอต้นเสมอปลายของคุณภาพและรสชาติอาหาร
แต่ก็ไม่ใช่ว่าการบริการและการตกแต่งร้านจะไม่มีค่าในสายตาInspector เอาซะเลย สัญลักษณ์ช้อนส้อมในเล่มจะเป็นตัวบ่งบอกถึงระดับการบริการและการตกแต่งร้าน สัญลักษณ์ช้อนส้อม1คู่คือ”ร้านอาหารสบาย ๆ ” จนไปถึงสัญลักษณ์ช้อนส้อม5คู่คือ”ร้านอาหารที่หรูหราอลังการดาวล้านดวง”.. สัญลักษณ์ต่าง ๆ ในคู่มือMichelin Guide ยังมีอีกมาก ไว้ว่านจะมารีวิวยาว ๆ ตอนได้รับเล่มแล้วอีกทีละกันค่ะ =)
Gaggan กรุงเทพ มิชลิน2ดาว
อีกสิ่งที่คนมักเข้าใจผิดคือInspector ของมิชลินจะไม่เปิดเผยตัวเด็ดขาด จะต้องคงความลับประหนึ่งสมาชิกองค์กรลับIlluminati ก็ไม่ปาน.. แต่ก่อนว่านก็เคยคิดอย่างนั้นเช่นกัน แต่หลังจากการค้นคว้าและพูดคุยกับร้านอาหารหลาย ๆ ร้าน ก็ได้ข้อสรุปว่าตอนInspector เขามาตรวจสอบครั้งแรก ๆ เขาจะไม่กระโตกกระตากให้รู้หรอก เพราะหนึ่งในองค์ประกอบการให้ดาวคือความสม่ำเสมอไง ยังจำกันได้ไหม ฉะนั้นแล้วInspector (จะรายเดิมหรือเปลี่ยนรายก็แล้วแต่) ก็ต้องมาลองแล้วลองอีก จนเขาแน่ใจว่าร้านนี้สมควรได้รับการประดับดาวแล้วนั่นแหละ หลังจากการชำระเงินในการตรวจสอบครั้งสุดท้าย เขาถึงจะเปิดเผยตัว แนะนำตัวว่าเป็นผู้ตรวจสอบมาจากคู่มือMichelin Guide และขอทราบรายละเอียดของร้าน พูดคุยกับเชฟและอื่น ๆ เพราะต้องไม่ลืมว่าอีกหนึ่งองค์ประกอบในการพิจารณาดาวคือตัวตนของเชฟที่สะท้อนอยู่ในอาหารเช่นกัน
Hélène Darroze at The Connaught, London มิชลิน2ดาว
สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดมากที่สุดอีกอย่างก็คือไม่มีMichelin-starred chef หรือเชฟมิชลินสตาร์
อ้าว(กันถ้วนหน้า) แล้วทำไมในสื่อต่าง ๆ หรือแม้แต่ในข้อเขียนของว่านเอง ก็ยังเรียก“เชฟมิชลิน”ล่ะ
นั่นเพราะระดับดาวมิชลิน เป็นสิ่งที่คู่มือMichelin Guide มอบให้กับร้านอาหาร ไม่ใช่กับเชฟ แม้ว่าเชฟที่คุมร้านจะมีส่วนทำให้ร้านได้ดาวก็ตาม อธิบายง่าย ๆ ว่าหากเชฟลาออกหรือปิดร้านที่ได้รับดาวมิชลินจากประเทศหนึ่ง ไปเปิดร้านอาหารอีกประเทศหนึ่ง ดาวนั้นก็ไม่ได้ตามเชฟไปก็ยังคงอยู่กับร้านนั้นเอง จนกว่า.. คู่มือMichelin Guide เล่มหรือปีถัดไปจะออก แล้วค่อยมาว่ากันว่าร้านนั้นยังจะได้ดาวอยู่หรือไม่ และร้านใหม่ที่เชฟนั้นเปิด ก็ไม่ได้ได้ดาวมิชลินประดับโดยทันทีอีกด้วย ยังต้องผ่านการตรวจสอบจากInspector เหมือนเดิม อันที่จริงแล้ว เชฟมิชลิน1ดาว เชฟมิชลิน2ดาวที่เรียกกัน ก็เป็นการเรียกอย่างลำลองของ“เชฟ(จากร้าน)มิชลินระดับ 2 ดาว”นั่นเอง
Nukumi, Hokkaido มิชลิน3ดาว
คำถามนึงที่ว่านมักได้รับคือ.. ร้านมิชลิน3ดาว อร่อยจริงไหม
.. เป็นคำถามที่เหมือนจะง่ายแต่ตอบยากมาก เพราะความอร่อยของคนเราไม่เท่ากัน ความถูกปาก ความเคยชิน ประสบการณ์ และ“ดวง”ของแต่ละคน แต่ละครั้งที่ไปร้านอาหารนั้น ๆ ก็ไม่เหมือนกันอีกด้วย
เชื่อว่านเถอะว่าต่อให้Inspector จะไปตรวจสอบร้านอาหารใด ๆ หนึ่ง ๆ กี่่ครั้ง มันก็มีโอกาสที่ร้านนั้นจะพลาดหรือลงเหวในวันที่เคราะห์หามยามซวยได้เหมือนกัน เพราะ“ความสม่ำเสมอ”เป็นหนึ่งในสุดยอดความท้าทายของการทำร้านอาหารเลยล่ะ
เอาล่ะ ถ้าไม่ว่ากันถึงเรื่องดวงและความสม่ำเสมอ.. ความอร่อย ความถูกปากล่ะ มันยังไงกัน??
ต้องบอกว่า ความอร่อยเป็นปัจเจก ถ้าใครจะสังเกต จะเห็นได้ว่าว่านจะใช้คำว่า“อร่อย”บรรยายประกอบการรีวิวของว่านน้อยมาก เพราะว่านถือว่าความอร่อยของแต่ละคนไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน โดยมากจะเป็นเรื่องของความถูกปากและความเคยชินเสียมากกว่า สิ่งที่มาคล้าย ๆ จะตีคู่กับความเคยชินก็คือประสบการณ์ อาหารบางอย่างเราจะไม่มีวันรู้ว่ามันรสชาติดีแค่ไหน จนกว่าเราจะได้กินที่มัน“ดี”จริง ๆ เพื่อเปรียบเทียบ และเมื่อเรายิ่งกินมากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น เราก็จะยิ่งรู้ว่าสิ่งไหนที่เทียบเคียงได้กับคำว่า“อร่อย” ยกตัวอย่างเช่นมังคุด ถ้าเราเป็นชาวต่างชาติ เคยกินแต่มังคุดแช่แข็ง(ใครจะเอามังคุดไปแช่ฟรีซแล้วลองกินตามดูก็ได้นะ) จะกินแต่ละทีต้องเอามังคุดแช่แข็งเข้าเวฟให้ละลายพอหั่นเปลือกออกได้ กินแล้วก็เป็นเนื้อมังคุดหวาน ๆ แหยะ ๆ จะอุ่นก้ไม่อุ่น จะเย็นก็ไม่เย็น พิลึกสิ้นดี.. ต่างชาติก็คงงงเหมือนกันว่าผลไม้อย่างนี้เป็น Queen of Fruit ได้ยังไง.. จวบจนได้มากินมังคุดสด ๆ หวานฉ่ำ กลีบเนื้อขาวอวบอิ่มนั่นแหละ ถึงจะเรียกได้ว่าเปิดประสบการณ์เกี่ยวกับมังคุด แต่.. ถ้าบางคนยึดติดกับความเคยชิน เห็นว่ามังคุดแช่แข็งนั้นอร่อยแล้ว(?) ก็คงยากที่จะก้าวข้ามไปถึงมังคุดที่สดอร่อยจริง ๆ
ในความถูกปากย่อมมีความชอบแฝงอยู่ ถ้าคนที่ชอบกินอาหารไทยรสจัด ๆ ต่อให้ไปกินอาหารฝรั่งเศสจากร้านมิชลิน3ดาว ก็ไม่แน่ว่าจะชอบหรือถูกปากขึ้นมาได้อยู่ดี ถึงแม้อาจมีความเป็นไปได้บ้างก็ตาม อย่างน้อยหากต้องการเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ทางปากะศิลป์ ต้องรู้จักละลดความยึดติดและความเคยชินไปด้วย ไม่งั้นก็จะเคยชินอยู่กันสิ่งเดิม ๆ นี่ล่ะ
Siam Wisdom กรุงเทพ ปรับเป็น Chim by Siam Wisdom มิชลิน1ดาว
จริง ๆ แล้วก็เป็นอีกหนึ่งคำค่อนที่คู่มือMichelin Guide มักจะได้รับ คือถูกหาว่าโปรอาหารฝรั่งเศสหรืออาหารFine Dining.. อ้าว อย่าลืมว่าเค้ามีต้นกำเนิดที่ฝรั่งเศสนะคะ แหม.. แต่คู่มือMichelin Guide เองก็ดูจะรู้อยู่ในจุดนี้ เลยทั้งมีBib Gourmandหรือบิบ กูร์มองด์ตั้งแต่ปีค.ศ.1955 เพื่อแนะนำร้านอร่อยคุ้มค่าในราคาย่อมเยา และในระยะหลัง ๆ ก็มีStreet food หรือร้านอาหารข้างทางที่ได้รับ(หนึ่ง)ดาวมิชลินมากขึ้น ทั้งที่ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร และแน่นอนว่าไทยก็ไม่น่าพลาด นอกจากนี้ยังมีPlates หรือ มิชลินเพลทเพื่อแนะนำร้านอาหารคุณภาพที่ใช้วัตถุดิบสดใหม่และปรุงอย่างพิถีพิถัน
พอพูดถึงอาหารFine Dining หลายคนก็ไม่เข้าใจว่ามันอร่อย มันดีวิเศษยังไง ทำไมต้องจ่ายเงินแพง ๆ ไปกินแต่ละจานที่ดูน้อยนิดยังกะเซ่นเจ้า กินจะอิ่มไหม บางทีก็เป็นอาหารอะไรแปลก ๆ ร้อนทำให้เย็น เย็นทำให้ร้อน เม็ด ๆ โฟมฟอง ๆ อะไรเต็มไปหมด ดูเข้าถึงยาก ต้องปีนบันไดกิน เหมือนการต้องปีนบันไดฟัง เวลาฟังดนตรีคลาสสิคไหม..
ขอแยกตอบเป็นสองเรื่อง มาว่ากันถึงอาหารFine Dining ก่อน.. หากเรามี Fine Art ให้immerseเสพศิลป์ มีเพลงหลากหลายแนวที่สามารถปลุกเร้าอารมณ์และจิตวิญญาณเราได้.. Fine Dineก็เช่นกัน มันคือโลกอีกโลกหนึ่ง โลกซึ่งเชฟบรรจงวาดสีสันไปบนผืนผ้าใบที่เรียกว่าจาน เสกสรรอาหารที่พลิ้วไหวไปตามรสชาติ พาเรา ๆ ท่าน ๆ ซึ่งก็คือผู้กินให้ดื่มด่ำไปกับท่วงทำนองนั้น ๆ มันคือการindulge คือการเข้าไปสัมผัส“โลก”ของเชฟแต่ละคน ไปลิ้มลองว่าเชฟนั้น ๆ “คิด”อะไรอยู่ และถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งหมดมวลของเขามาอยู่บนจานได้อย่างไร.. นับตั้งแต่Flavor profile การใช้และปรุงวัตถุดิบ การใช้อาหารที่มีรสสัมผัสและtexture ที่ต่างกัน มาเข้าคู่ หรือมาขัดแย้งกัน ไหนจะจานที่เลือกใช้ จนไปถึงการจัดจานอีกล่ะ.. จากคอร์สสู่คอร์ส จากจานสู่จาน เหล่านี้คือสิ่งที่เราสามารถ“เสพ” ได้ด้วยอายตนะทั้ง6 อันได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และ.. ใจ นั่นคือประสบการณ์.. ความคิดที่ส่งต่อถึงกัน จากผู้ปรุง สู่ผู้กิน
ซึ่ง.. ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เชฟบางคนก็ทำได้เป็นอย่างดี พาเราไปสัมผัสตัวตนและแนวคิดของเชฟ แต่เชฟบางคนก็เหมือนทิ้งเราให้งุนงงอยู่กลางทางว่า.. เชฟคิดอะไรอยู่(วะ)คะ -_-
อีกเรื่องก็คือ.. ความไม่เก็ทอาหารอะไรแปลก ๆ ร้อนทำให้เย็น เย็นทำให้ร้อน เม็ด ๆ โฟมฟอง ๆ ทำไมต้องลำบากชีวิตกันขนาดนั้น?? เหล่านั้นคือ Molecular gastronomy เป็นการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทั้งเคมีและฟิสิกส์ มาใช้ในการประกอบอาหารเพื่อผลัก กำจัดหรือลบขีดจำกัดในการทำอาหารแบบเดิม ๆ ออกไป.. ฟังดูพิลึกพิลั่น แต่อันที่จริงแล้วแม้แต่การใช้ไฟปรุงอาหารให้สุกอย่างธรรมดาที่สุดก็เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในตัวมันเองอยู่แล้ว อย่างการย่างเนื้อจนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลทองนี่มีชื่อเรียกเก๋ ๆ ว่าMaillard reaction หรือปฏิกิริยาเมลลาร์ดนะเออออ แต่(อีกที) แม้แต่นักชิมอาหารหลายคนเอง ก็“ไม่อิน”กับMolecular gastronomy.. ก็มี คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่ามันไม่เติมเต็มความอยากอาหาร มันกลายเป็นเหมือนการไปดูโชว์หรือเล่นกลมากกว่าจะไปลิ้มลองรสชาติอาหารจริง ๆ สำหรับว่านเอง.. ว่านไม่เกี่ยงที่จะลอง เพราะอยากรู้ว่าเชฟจะสามารถทลายกรอบจำกัดได้แค่ไหน แต่จะให้กินอาหารที่เป็นMolecular gastronomyทุกวันก็ขอบาย.. แฮ่
สรุป.. ร้านอาหารที่ได้ดาวมิชลินไม่จำเป็นต้อง”อร่อย”สำหรับทุกคน และร้านอาหารที่ไม่ได้ดาวมิชลิน ก็ไม่ได้หมายความว่า”ไม่อร่อย” เพราะเหตุและปัจจัยในการไม่ได้ดาวมีล้านแปดพันประการ ร้านอาหารหลายร้านที่ว่านชมชอบก็ไม่ได้มีดาวมิชลิน เชฟหลายคนปฏิเสธจะรับดาวมิชลิน(ให้กับร้านอาหารของตัว)ด้วยซ้ำ
แต่.. งั้นเราก็ไม่ต้องใส่ใจดาวมิชลินไหม??
L’Atelier de Joël Robuchon กรุงเทพ มิชลิน1ดาว
ก็ไม่ใช่นะ.. แม้นอกจากคู่มือMichelin Guideแล้ว ในโลกแห่งอาหารยังมีรางวัลต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น The World’s 50 Best Restaurants by S.Pellegrino & Acqua Panna , James Beard Foundation Awards , La Chaîne des Rôtisseurs และอื่น ๆ
ถึงกระนั้น คู่มือMichelin Guide ก็ยังเป็น“สถาบัน”หนึ่งที่ทรงคุณค่าในวงการอาหารและยังเป็นสุดยอดปรารถนาของเชฟหลายคนในการได้รับดาวมิชลินมาประดับร้านของตน ไม่ว่าจะเป็นเชฟโนเนมหรือนามอุโฆษก็ตามแต่.. เชฟที่เสียน้ำตาหรือแม้แต่จบชีวิตของตนเมื่อถูกลดหรือปลดดาว.. ก็มีมาแล้วทั้งนั้น
การได้รับดาวมิชลินคือได้รับการยอมรับในวงการอาหารและนำพามาซึ่งลูกค้าและนักชิมอาหารจากทั่วทุกมุมโลก ว่านเองเวลาไปต่างประเทศ คู่มือMichelin Guide ก็ยังเป็น“ส่วนหนึ่ง”ในการช่วยตัดสินใจเลือกร้านอาหารของว่านเช่นกัน
ยิ่งถ้ามองจากในมุมของการท่องเที่ยว การที่มีคู่มือMichelin Guide ฉบับกรุงเทพ ย่อมเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวไทยอย่างแน่นอน แล้วเราก็ใกล้จะได้รู้กันแล้วว่าร้านไหนในกรุงเทพที่จะได้รับการประดับดาวจากมิชลิน..
M Krub กรุงเทพ
ว่านเองก็มีลิสต์ในใจอยู่เหมือนกัน ขอย้ำว่าไม่ใช่ว่าร้านที่ไม่อยู่ในลิสต์นี้ จะไม่ดีหรือไม่อร่อยหรือไม่ชอบ.. แต่ลิสต์ร้านอาหารต่อไปนี้ คือลิสต์ที่ว่านเห็นว่าน่าจะอยู่ในสายตาInspector ของมิชลิน และมีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับประดับดาว (และแน่นอนว่าไม่ได้หมายความว่าว่านจะชอบทุกร้านในลิสต์นี้แต่อย่างใดเช่นกัน.. ฮา)
– Le Normandie Restaurant at Mandarin Oriental, Bangkok มิชลิน2ดาว
https://www.mandarinoriental.com/bangkok/chao-phraya-river/fine-dining/restaurants/french-cuisine/le-normandie
หากมีร้านอาหารไหนในกรุงเทพที่จะได้มิชลิน3ดาว ก็คงไม่พ้นร้านนี้.. ได้2ดาวจ้า
– Gaggan มิชลิน2ดาว
http://eatatgaggan.com/
– L’Atelier de Joël Robuchon, Bangkok มิชลิน1ดาว
http://robuchon-bangkok.com/
– Restaurant Sühring มิชลิน1ดาว
http://www.restaurantsuhring.com/
– Eat Me Restaurant มิชลินเพลท
https://eatmerestaurant.com/
– J’aime by Jean-Michel Lorain มิชลิน1ดาว
http://www.jaime-bangkok.com/
– Savelberg Bangkok มิชลิน1ดาว
http://www.savelbergth.com/
– Il Fumo มิชลินเพลท
https://www.ilfumo.co/ หรือ Vesper https://www.vesperbar.co/
– Enoteca Italiana มิชลินเพลท
http://www.enotecabangkok.com/
– Nahm Bangkok มิชลิน1ดาว
https://www.comohotels.com/metropolitanbangkok/dining/nahm
– Issaya Siamese Club มิชลินเพลท
https://www.issaya.com/
– Paste Bangkok มิชลิน1ดาว
https://pastebangkok.com/
– Le Du มิชลินเพลท
http://www.ledubkk.com/
– Sra Bua by Kiin Kiin มิชลิน1ดาว
https://www.kempinski.com/en/bangkok/siam-hotel/dining/sra-bua-by-kiin-kiin/
– Bo.lan มิชลิน1ดาว
http://www.bolan.co.th/
– Blue Elephant Restaurant, Bangkok มิชลินเพลท
http://www.blueelephant.com/bangkok/
– Chim by Siam Wisdom มิชลิน1ดาว
http://catbox.fr/
– Khao .. ลืมไปว่าร้านพึ่งfully launch ไม่นาน ก่อนนี้เป็น soft launch
http://khaogroup.com/
M Krub Bangkok
http://chefmangroup.com/th
คิดว่าน่าจะมีร้านOmakase Sushi ได้ซักร้าน -> Ginza Sushi Ichi จ้า มิชลิน1ดาว
http://www.ginza-sushiichi.jp/english/shop/bangkok.html
ส่วนสองร้านนี้ หวังว่าจะอยู่ในเรดาห์ของมิชลินและน่าจะได้Bib Gourmand เป็นอย่างน้อย
– Freebird Bangkok – Modern Australian Cuisine มิชลินเพลท
http://freebirdbkk.com/
– Thai Dining at Chakrabongse Villas
https://chakrabongsevillas.com/dining/
สำหรับ 1 ดาวที่เป็น street food .. ขอบอกว่าเก็งยากกว่าร้านอาหารFine Diningอีก ในใจแอบคิดว่ามีสิทธิ์เป็นผัดไทยสูงมาก แต่ขอให้ทายผิดดีกว่า >_< -> ทายผิดไปนิดนึงจ้า เจ๊ไฝ มิชลิน1ดาว
(เจ๊ไฝได้งี้.. เล่มปี2019ขอลุ้นหน่องริมคลองได้แมะ) น่าจะจกโต๊ะเดียว แต่ถ้าสงวนศรีได้ จะดีใจมาก -> สงวนศรี Bib Gourmand Narisawa, Tokyo มิชลิน 2 ดาว
วันที่6 ธันวาก็จะได้รู้กันแล้วล่ะค่ะ ว่าร้านไหนจะได้อยู่ในคู่มือMICHELIN GUIDE BANGKOK หรือ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับกรุงเทพ ฯ เล่มปฐมฤกษ์.. ไว้จะมาอัปเดตให้ฟังกันนะคะ ^^
– อัปเดต –
นอกเหนือจากที่อัปเดตเป็นตัวหนาสีเลือดหมูข้างบนแล้ว ร้านที่ได้ดาวมาประดับมีดังนี้
มิชลิน2ดาว
– Mezzaluna – Lebua
http://www.lebua.com/mezzaluna
มิชลิน1ดาว
– Elements Restaurant, The Okura Prestige Bangkok
http://www.okurabangkok.com/en/restaurants-in-bangkok.html#tab-22
– Saneh Jaan เสน่ห์จันทน์
https://www.glasshouseatsindhorn.com/restaurant/saneh-jaan
– Upstairs at Mikkeller
http://mikkeller.dk/location/upstairs-at-mikkeller-bangkok/
หลายร้านที่ได้บรรจุในคู่มือMichelin Guide ฉบับกรุงเทพก็มีทั้งที่แปลกใจและไม่แปลกใจเท่าไหร่ แต่ที่น่าตื่นเต้นกว่าคือBib Gourmand , มิชลินเพลทและร้านอาหารริมทางที่ติดโผในคู่มือMichelin Guide ฉบับกรุงเทพ หลายร้านเรียกเสียงอุทานอย่างปลาบปลื้มได้ดีทีเดียว อันที่จริง ทางผู้บริหารมิชลินเองก็บอกขำ ๆ ทำนองว่ามีหลายร้านที่เป็นรถเข็นและอร่อยมาก แต่ไม่สามารถบรรจุไว้ในคู่มือMichelin Guide ฉบับกรุงเทพหมวดร้านอาหารริมทางได้ เพราะเป็นรถเข็นขายไปเรื่อย ไม่มีหลักแหล่งแน่นอน เดี๋ยวคนตามไปกินแล้วหาไม่เจอ ฉะนั้นเลยบรรจุได้เฉพาะร้านอาหารริมทางที่มีที่อยู่เป็นหลักเป็นฐานเท่านั้น (แต่สัญลักษณ์เป็นรูปรถเข็นซะงั้น อิอิ แอบแซว)
ร้านที่อยู่ในหมวดของBib Gourmand และร้านอาหารริมทางที่ว่านว่าน่าสนใจว่ามิชลินก็ทำการบ้านมาดีนะ (ถึงแม้บางร้านจะอร่อยน้อยลงกว่าแต่ก่อนก็เหอะ) มีดังนี้ค่ะ
– เจ๊โอว Bib Gourmand
– ครัวอัปษร Bib Gourmand
– ตงกิง อันนัม มิชลินเพลท
– ก๋วยจั๊บมิสเตอร์โจ ร้านอาหารริมทาง
– ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่สวนมะลิ (เจ๊เค็ง) ร้านอาหารริมทาง
– ก๋วยเตี๋ยวหมูรุ่งเรือง ร้านอาหารริมทาง
– เฮียหวานข้าวต้มปลา ร้านอาหารริมทาง
– ส้มตำเจ๊แดง ร้านอาหารริมทาง
Restaurant Sühring กรุงเทพ มิชลิน1ดาว
เป็นไงกันบ้างคะ กับคู่มือ MICHELIN GUIDE BANGKOK หรือ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับกรุงเทพ ฯ เล่มปฐมฤกษ์.. สามารถดูลิสต์ทั้งหมดในทุกหมวดไม่ว่าจะเป็นรางวัลดาวมิชชลิน, Bib Gourmand, มิชลินเพลทและร้านอาหารริมทาง ได้ที่ https://guide.michelin.com/th/bangkok หรือถ้าสนใจแบบรูปเล่มสำหรับพกพา ก็จะเริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมเป็นต้นไปต้ามร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศค่ะ
สำหรับว่านเองก็อย่างที่บอกไปข้างต้น มีทั้ง“ตามคาด” “ผิดคาด” “เหนือคาด” “เกินคาด”.. ตามSocial Media ก็มีทั้งเสียงว้าวและเสียงว้า.. แต่ไม่ว่าจะว้าวหรือว้า สิ่งหนึ่งที่ว่านว่าน่าสนใจและเป็นการส่งสัญญาณนัย ๆ ของมิชลินคือ.. ปีนี้ไม่มีร้านไหนในกรุงเทพที่ได้3ดาวค่ะ อื้มมม..
ปีหน้ามาลุ้นกันใหม่นะคะ ว่าใครจะอยู่ ใครจะไป ใครจะได้ เพิ่ม ลด ปลดดาว.. ในปีต่อ ๆ ไป จะมีการขยายไปยังทั้งเมืองท่องเที่ยวหลักและเมืองท่องเที่ยวรองด้วยล่ะ มาดูกันค่ะ ^^
ติดตามข่าวสารว่านน้ำกันได้ที่ https://www.facebook.com/wannamdotcom/ เช่นเคยนะคะ พบกันใหม่บล็อกหน้า สวัสดีค่ะ