และก็เป็นอีกครั้ง ที่ว่านน้ำได้รับเกียรติให้เป็นกรรมการตัดสินในรายการ “เชฟกระทะเหล็ก ประเทศไทย” เมื่อวันที่ 30.04.14 ที่ผ่านมา ครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ 7 แล้วค่ะ ที่ว่านได้มาทำหน้าที่นี้ เบื้องหลังการแข่งขันเป็นยังไง ไปดูกันเลยดีกว่า
P1010699

วันถุดิบหลักในการแข่งขันครั้งนี้ เรียกได้ว่าขนกันมาอย่างล้นหลามเลยค่ะ กับ“สุดยอดจากแดนอาทิตย์อุทัย”
อันได้แก่“บลูฟินทูน่า” “เนื้อวัวมัตสึซากะ” “ไข่หอยเม่น” (ถึงไม่ใช่ไข่ ก็ขอเรียกไข่ละกันนะคะ คุ้นเคยกันดี) “หอยเป๋าฮื้อ” และ “หมึกยักษ์”

มาดูทางด้านเชฟผู้ท้าชิงกันบ้าง.. เชฟผู้ท้าชิงคือเชฟพีท ศิวแมน อุดมเดช Master Chef ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 5 เชฟสุดยอดเชฟของเมืองLos Angeles ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเชฟที่มีศิลปะการใช้มีดขั้นสูง สามารถแล่เนื้อปลาขณะที่ยังไม่ตายได้ (บาปนะคะเชฟ) (แต่ว่านก็ยินดีกินนะคะ) (ฮา)
P1010759

ถ่ายทำไปเมื่อ 25.03.14 ที่ผ่านมาค่ะ ครั้งนี้เริ่มตัดสินกันที่อาหารของผู้ท้าชิงก่อน กับจาน”เป๋าฮื้อ-อ้อมกอดจากท้องทะเล”
P1010727

มาเป็นเต้าหู้กับเป๋าฮื้อ การปรุงเป๋าฮื้อไม่มีที่ติ นุ่ม-กรุบ ไม่เหนียว น้ำซุปมิโสะรสชาติดี ได้รับรู้ถึงความเป็นเป๋าฮื้อและรสเผ็ดเล็กน้อยของน้ำมันพริกช่วยกระตุ้นลิ้น ถือเป็นการเริ่มมื้อได้ดี..
P1010730

ต่อมา จาน”หมึกยักษ์-สลัดพันใจ”
P1010720

จานนี้ขอเรียนตามตรงว่าไม่ไหวจะเคลียร์ อ่อนเพลียหัวใจ..
ความดีงามของจานนี้ มีอยู่อย่างเดียวเลยคือปรุงหมึกยักษ์มาได้อย่างดี หั่นมาได้อย่างสวยงาม มีความนุ่ม ไม่แข็งเหนียวเคี้ยวยาก.. และความดีงามก็จบอยู่แค่นั้นเช่นกัน ผักสลัด น้ำสลัด เครื่องสลัด ไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้นเลย..
P1010719

P1010741

และมาถึง.. จาน”ปลาทูน่าบลูฟิน-ทูน่าสามสหายกลายร่าง”
P1010715

เป็นจานที่.. ว่านหนักใจมาก.. ว่าจะคอมเม้นยังไงดี ไม่ให้เชฟพีทเสียกำลังใจ
เพราะเป็นจานที่เรียกได้ว่าแทบจะไร้การปรุงแต่งใด ๆ เครื่องในจานที่ใส่มา เรียกว่าไม่ได้ช่วยชู-เสริมรสชาติของปลาทูน่าใด ๆ ทั้งนั้น
จริงอยู่ การปรุงอาหารนั้น เราต้องคงสัจจะต่อวัตถุดิบ แต่เมื่อคำนึงถึงว่านี่คือการแข่งขันเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย ที่ 2 เกณฑ์การตัดสินคือการชูรสชาติของวัตถุดิบหลัก และความสวยงามกับการสร้างสรรค์เมนูแล้วนั้น.. การที่จานนี้อาศัยความอร่อยจากรสชาติของวัตถุดิบแทบจะทั้งสิ้น ทำให้ว่านต้องให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาที่สุดว่าอาหารจานนี้ไม่ใช่อาหารที่จะมาแข่งเชฟกระทะเหล็กได้ค่ะ
P1010713

P1010743

มาถึงจาน”เนื้อมัตสึซากะ-หอยเม่น-ทูน่า-ก้าวย่างสู่แผ่นดินพฤกษาสวรรค์” จานนี้เชฟพีทตีตื้นขึ้นมาได้ ทั้งในเรื่องของความสวยงามกับการสร้างสรรค์เมนู และการชูวัตถุดิบหลัก ซึ่งก็ทำได้ดีในการลดทอนความมันของเนื้อมัตสึซากะและทูน่าลง แม้ในเรื่องของรสชาติจะยังไม่โดดเด่นมาก แต่ก็นับว่าดีขึ้น เมื่อเทียบกับจานที่ผ่าน ๆ มา
ส่วนในเรื่องของเทคนิกการปั้นที่ดู.. ไม่ค่อยสมบูรณ์แบบนัก ก็ขอทดแต้มให้ว่าครั้งนี้เป็นการแข่งขันที่ยาวนานมากก็แล้วกันค่ะ (^^’ )
P1010718

P1010716

ครั้งนี้แตกต่างไปจากครั้งก่อนที่ว่านได้เป็นกรรมการ คือมีอีก 1 วัตถุดิบปริศนา นั่นก็คือ.. “ปูยักษ์ทาราบะ-ปูน้อยขย้ำหัวใจ”ค่ะ 
P1010724

ซึ่งจานนี้ก็ต้องขอชมว่าเชฟพีททำได้ดี ตอบโจทย์ทั้งรสชาติ ความงาม+ความคิดสร้างสรรค์และการชูรสชาติวัตถุดิบหลักทั้งปูยักษ์และหอยเม่น..
แต่.. จะสายไปหรือเปล่า?
P1010725

P1010747

มาถึงอาหารของเชฟบุญธรรมกันบ้าง เปิดตัวด้วยจาน”หมึกยักษ์-ห่อหมกเกาลัคทะเล” 
P1010708

จานนี้ถามว่าอร่อยไหม อร่อยค่ะ เนื้อหมึกยักษ์ไม่สุกเกิน แต่เทียบกับของเชฟผู้ท้าชิงในเรื่องการปรุงหมึกยักษ์นั้น เชฟผู้ท้าชิงทำได้ดีกว่าค่ะ และความอร่อยที่ว่านั้น กลับได้จากซอสหอยเม่นที่ประดับหน้าซึ่งหนักไปทางรสชาติของมายองเนสเสียมาก ถ้าลดปริมาณมายองเนสลง รสชาติหอยเม่นจะเด่นกว่านี้ค่ะ เรียกว่าจานนี้คาบลูกคาบดอกพอควร..
P1010709

ต่อมา จาน”หอยเป๋าฮื้อ-รักเขาข้างเดียว”
P1010704

ทั้งสองเชฟ ปรุงเป๋าฮื้อได้อย่างไม่มีที่ติเหมือนกัน ผิดกันที่ของเชฟบุญธรรม จะค่อนข้างโดดเด่นกว่าที่รสชาติของตัวเป๋าฮื้อและน้ำซอสโอบะ จานเป๋าฮื้อของเชฟบุญธรรมจึงถือว่าโดดเด่นกว่าของเชฟผู้ท้าขิงค่ะ แต่เชฟบุญธรรมคะ.. ข้าวจี่แข็งไปหน่อยนะคะ (-“- ) 
P1010703

P1010748

จานต่อมา “เนื้อมัตสึซากะ-พระโคกินกล้วย”
P1010701

จานนี้น่าจะเป็นหมัดน็อตจากเชฟบุญธรรม.. จัดเต็มทั้งพรีเซ็นเทชั่น ความสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์และรสชาติ
รสหวานกำลังดีของกล้วย เสริมด้วยรสสดชื่นของสตรอว์เบอร์รี่ ทำให้เนื้อมัตสึซากะที่ย่างมาอย่างที่เรียกได้ว่า”เป๊ะ” ส่วนน้ำตกมันมัตสึซากะนั้นไม่ต้องพูดถึง.. แซ่บลื้มมมม.. (>_< )
P1010750

P1010702

P1010749

มาถึงจาน “บลูฟินทูน่า-โทโร่ย่างแลน”
P1010752

ความแตกต่างของจานบลูฟินทูน่านี้ ระหว่างของเชฟบุญธรรมและเชฟผู้ท้าชิงคือการ”หมัก”ของเชฟบุญธรรม ให้รสชาติที่เข้าเนื้อกว่าค่ะ ทำให้เสริมรสชาติของปลาทูน่าได้มากกว่า และการย่างเองที่โต๊ะ ก็ช่วยกำจัดไขมันส่วนเกินได้มากกว่าด้วย การใช้โรสแมรี่กับปลาทูน่าก็นับว่าน่าสนใจ..
P1010755

P1010754

มาถึงจานสุดท้ายของเชฟบุญธรรมกันบ้าง กับจาน”ปูทาราบะ-ปูสามมิติ”
P1010705

จานนี้พูดถึงรสชาตินั้น ด้วยความเป็นของทอด มันอร่อยอยู่แล้วแหละ อันที่จริงว่านค่อนข้างถูกใจจานปูทาราบะของเชฟผู้ท้าจริงมากกว่านิดหน่อย เพราะชูรสชาติของปูได้ดีกว่า ของเชฟบุญธรรมจะค่อนข้างกลืน ๆ ไปหน่อย ด้วยความที่ใช้ปูสับด้วยแหละ (มายองเนสอีกแล้วนะคะเชฟ)
P1010757

P1010707

และก็เดาได้ไม่ยาก ว่าใครเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้นั้น อาจารย์จำนงค์ก็พูดตรงกันว่า.. “ตัดสินไม่ยาก” (-_-‘ )
เชฟพีทพลาดในการ”พึ่ง”ความอร่อยของวัตถุดิบหลักมากเกินไป ซึ่งถึงแม้การcook วัตถุดิบหลาย ๆ ตัวจะทำได้ดี แต่สอบไม่ผ่านในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และการชูรสชาติของวัตถุดิบหลักค่ะ ไม่ค่อยแน่ใจว่าเชฟพีทตื่นเวทีหรือเปล่า หรือไม่ถนัดกับความกดดันของการแข่งขัน.. พอมาเจอกับเชฟบุญธรรมที่เจนสนาม(แหง) เลยเฆี่ยนขาดได้อย่างไม่มีข้อกังขา.. ยังไงก็เป็นกำลังใจให้เชฟพีทนะคะ หลายจานทำได้โอเค มีแววค่ะ ไว้มาแก้มือใหม่นะคะ

ขอบคุณที่ติดตามกันเช่นเคย ขอบคุณทีมงานเบื้องหลังทุกท่านด้วยค่ะ
แล้วพบกันใหม่ในการแข่งขันครั้งหน้า สวัสดีค่ะP1010734