“ผ้าหมักโคลน”เป็นของดีของชุมชนบ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย อันที่จริงแล้วหากจะกล่าวถึงผ้าหมักโคลนของชุมชนบ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่เสียด้วยซ้ำ เพราะเมื่อเอ่ยถึงจังหวัดสุโขทัย คนก็มักจะนึกถึงเครื่องสังคโลก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย พ่อขุนราม งานเผาเทียนเล่นไฟลอยกระทงเสียมากกว่า แล้วผ้าหมักโคลนคืออะไรล่ะ
ผ้าหมักโคลนนี้มีที่มา เกิดจากว่าคนสมัยก่อนเวลาไปทำไร่ไถนาก็นุ่งผ้าถุง เวลาเดินชายผ้าก็จะระเรี่ยไปกับโคลนตม เป็นเช่นนี้นานเข้า เมื่อกลับถึงบ้านและซักผ้าตากไว้ ก็สังเกตได้ว่าชายผ้านั้น นุ่มเป็นพิเศษและมีสีทึบทึมลง ดูสวยแปลกตาไปอีกแบบ เห็นอย่างนั้นแล้ว จึงได้ทดลองเอาผ้าทั้งผืนมาหมักโคลนทิ้งไว้ ก็พบว่าโคลนนี่เองที่ทำให้ผ้านิ่ม นี่แหละคือที่มาของ “ผ้าหมักโคลน”
สาเหตุที่ผ้านิ่มนั้น เพราะธาตุเหล็กในโคลน เมื่อแทรกซึมจะทำให้เส้นใยผ้าขยายตัว เนื้อผ้าจึงนุ่ม และมีสีสันติดทน ภูมิปัญญาจึงเกิดจากการสังเกตนี้เอง ดินโคลนที่ใช้หมักจากแต่ละสถานที่ เช่น บึง หนองน้ำ ท้องร่อง ก็จะให้สีสันต่างกัน หลังหมักโคลนไว้คืนหนึ่ง จนผ้านุ่มน่ายดีแล้ว ก็จะนำไปซักน้ำจนกว่าจนน้ำจะใส เป็นอันว่าสะอาดดี
แล้วค่อยย้อมทับด้วยสีตามที่ต้องการ
สีที่ใช้นั้น ก็เป็นสีจากธรรมชาติทั้งสิ้น ดังนี้
ใบมะม่วง = สีเขียวแก่
ใบจั่น = สีเขียวอ่อน
ใบสะเดา = สีโอลด์โรส
ใบหูกวาง = สีเขียวครีม
แก่นขนุน = เหลือง
เปลือกมังคุด = สีม่วง
เปลือกสะเดา = สีกะปิ
ลูกมะเกลือ = สีดำ
ไม้เพกา = สีเหลืองใบไผ่
ไม้ฝาง = แดงอมฝาด
สุโขทัยนั้น เป็นที่รู้จักในเรื่องผ้าตีนจก แต่ผ้าหมักโคลนของที่ชุมชนบ้านต้นจั่นนี้ ยังมีชื่อเสียงในเรื่องลายขิดอีกด้วย มีมากมายกว่า 50 ลายทีเดียว ผ้าหมักโคลนที่นี่ ยังได้รับรางวัลทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศ และนานาชาติมาแล้วไม่น้อย น่าภูมิใจไหมล่ะ
สีเขียวอ่อนของผ้าหมักโคลนนั้นได้จากใบจั่น ชุมชมส่วนมากก็มักได้ชื่อจากพืชพรรณที่มีมากมายในท้องถิ่น แต่ชุมชนบ้านนาต้นจั่นนั่น มีเรื่องเล่าความเป็นมามากกว่านั้น ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อ ๆ กันมาว่าเมื่อราว 200 ปีก่อน มีครอบครัว 4 ครอบครัวจากแคว้นโยนก เมืองเชียงแสน รอนแรมข้ามเขาลูกแล้วลูกเล่าเพื่อหาถิ่นฐานแห่งใหม่ และในช่วงเวลาเดียวกัน ก็มีอีก 3 ครอบครัวจากเมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้เดินทางยังที่นี่ ที่ซึ่งมีภูเขาอยู่ในกลางแวดล้อมเต็มไปด้วยต้นจั่นมากมาย เมื่อทั้ง 7 ครอบครัว เห็นต้นจั่นซึ่งผลิดอกออกผลก่อนต้นไม้ชนิดอื่น ๆ ดูมีความหมายและความพิเศษ พวกเขาจึงตัดสินใจลงหลักปักฐาน ณ ที่แห่งนี้ และเรียกที่นี่ว่า “บ้านนาต้นจั่น” จนปัจจุบันมีกว่า 370 หลังคาเรือนเข้าแล้ว
อย่างที่กล่าวในหัวเรื่องแล้วว่าบ้านนาต้นจั่น มีดีมากกว่าผ้าหมักโคลน นั่นเพราะที่นี่ยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเอง มีการละเล่นต่าง ๆ คือเป๊บโขก มีลักษณะการละเล่นคล้ายงูกินหาง มีอาหารประจำถิ่นคือข้าวเปิ๊บและก๋วยเตี๋ยวแบ ทั้งยังมีความเชื่อต่าง ๆ เฉพาะตน เช่น การอัญเชิญดวงวิญญาณเจ้าพ่อพญาแก้วมาคอยปกปักรักษาในชุมชน
ข้าวเปิ๊บคืออะไร..
ด้วยสภาพพื้นที่ของบ้านนาต้นจั่นที่อยู่ห่างไกล หลายสิบปีก่อน เส้นก๋วยเตี๋ยวเป็นของหากินยากและมีราคาแพง จะกินทีชาวบ้านก็ต้องเดินทางเข้าเมืองไปซื้อ ลำบากมาก.. ด้วยความยากลำบากนี้ คุณยายเครื่อง วงศ์สารสิน จึงคิดหาสิ่งที่จะมาใช้แทนเส้นก๋วยเตี๋ยว เลยลองเอาข้าวเจ้าข้าวสารมาโม่ด้วยโม่หินและกรองด้วยผ้าขาวบางเป็นแป้งเปียกข้น ๆ แล้วละเลงนึ่งบนผ้าขาวบางเป็นแผ่นบางๆ คล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ ใล้ก็เป็นผักต่าง ๆ เช่น ผักกันตง ผักตำลึง ผักหวานบ้าน แล้วพับแผ่นแป้งห่อเข้า แล้วนึ่งต่อก่อนจะตักใส่ชามแล้วราดน้ำซุปกระดูกหมูร้อนๆ โปะไข่ดาวนึ่ง คล้ายก๋วยเตี๋ยวปากหม้อ แต่ก็อร่อยแปลกไม่เหมือนใครทีเดียว
สำหรับของฝากเด็ก ๆ นั้น ขอแนะนำตุ๊กตาหก ฝีมือคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ที่จะหกคะเมนตีลังกา หลอกเด็กได้ดีนักเชียว
บ้านนาต้นจั่นนี้ก็มีโฮมสเตย์กับเขาด้วย ทั้งกิจกรรมและความ”บ้าน ๆ “ของบ้านนาต้นจั่นก็ยังคงวิถีเดิมของชุมชนได้เป็นอย่างดี
สำหรับนักถ่ายภาพไม่ควรพลาด เพราะสามารถกางเต้นท์นอนที่จุดชมวิว กลางคืนถ่ายรูปดาว ตื่นเช้าขึ้นมาถ่ายรูปทะเลหมอก.. ฟินสองต่อ
สนใจอยากไปเยี่ยมเยีนบ้านนาต้นจั่นก็ไมยากเลย จากที่ว่าการอำเภอศรีสัชนาลัย มุ่งตามทางหลวงหมายเลข 102 (สายอุตรดิตถ์-ศรีสัชนาลัย) ไปทางทิศตะวันออก (ไปอุตรดิตถ์) ประมาณ 9 กิโลเมตร จากนั้นแยกเข้าตำบลบ้านตึก ถนนสายแม่ตะเพียนทอง-ห้วยตม อีก 11 กิโลเมตร ก็จะถึงบ้านนาต้นจั่น
หากอยากพักโฮมสเตย์ ก็สามารถติดต่อกลุ่มอาชีพทอผ้าบ้านนาต้นจั่นได้เลย
โทร 089-885-1639 และ 088-495-7738
ฝากบ้านนาต้นจั่นไว้เป็นอีกหนึ่งชุมชนในอ้อมใจด้วยนะคะ ^_^
ขอบคุณภาพประกอบจากพี่นิก @dhapana ค่ะ