สวัสดีค่ะ หลังจากที่ว่านเคยเขียนบล็อก เล่าเรื่องขอวีซ่ามัลติเพิลญี่ปุ่นในฐานะที่ไม่ได้เป็นมนุษย์เงินเดือน a.k.a. ฟรีแลนซ์นั่นเอง.. ไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว
จนเมื่อ 1 กรกฎาที่ผ่านมา คนไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นไม่เกิน 15 วัน ได้รับการผ่อนผันไม่ต้องขอวีซ่าแล้ว ( กระซิก )
คราวนี้ว่านก็จะมาเล่าเรื่องขอวีซ่าสหรัฐอเมริกาในฐานะที่ไม่ได้เป็นมนุษย์เงินเดือน a.k.a. ฟรีแลนซ์นั่นเอง.. บ้างนะคะ
แถมท้ายด้วยการไขความจริง“เขาว่ากันว่า”ในการขอวีซ่าอเมริกาด้วยค่ะ
เขาว่างั้น เขาว่างี้.. จริงหรือไม่จริง เดี๋ยวได้รู้กันค่ะ =)
อันว่าวีซ่าสหรัฐอเมริกา หรือต่อจากนี้ขอเรียกสั้น ๆ ว่าอเมริกานี้ มักเป็นที่หวั่นเกรงของผู้ขอมาก ไม่แพ้วีซ่าเชงเก้นหรือทางยุโรปแต่อย่างใด
ด้วยเป็นที่เลื่องลือว่าโหด เฮี้ยบ หิน!!! ไหนจะสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษ ไหนจะต้องจ่ายตังค่าขอวีซ่าก่อน
ถ้าขอวีซ่าก็ไม่ผ่าน ก็เท่ากับเงินกว่าครึ่งหมื่นหายวับไปกับตา.. กรี๊ดดดด
เล่นเอามนุษย์ฟรีแลนซ์อย่างว่านคิดหนักอยู่ไม่น้อย ถึงจะค่อนข้างมั่นใจว่าเครดิตทางการเดินทางของตัวเองค่อนข้างดี ไม่เคยมีอะไรด่างพร้อย
แต่ถ้าไปขอแล้วเงินหลายพันปลิวหายไปกับสายลมอเมริกาก็คงต้องไปนั่งทำใจหลายวันอยู่เหมือนกัน
แต่.. ถ้ามัวแต่หวั่น ชาตินี้ก็คงไม่ได้ไปไหนกันพอดี จริงไหม =)
เอาเข้าจริงแล้วการขอวีซ่าอเมริกา ไม่ได้ยากเว่อร์เลยค่ะ แถมขอที ก็( มักจะ )ได้10ปีด้วย
ไม่ต้องไปขอทุกครั้ง อยากไปเมื่อไหร่ก็ได้ใน 10 ปี.. เลิศเนอะ
ว่าแล้วก็มาเริ่มปฏิบัติการการขอวีซ่าท่องเที่ยวกันเลยค่ะ
วิธีต่อไปนี้ไม่เฉพาะผู้ที่เป็นฟรีแลนซ์นะคะ จะฟรีฯ ไม่ฟรีฯ ถ้าเป็นวีซ่าท่องเที่ยว ก็ใช้วิธีเดียวกันหมด (^^ )
มีหลายเว็บที่อธิบายวิธีขอวีซ่าอเมริกาอย่างละเอียดอยู่แล้ว ว่านคงไม่เจาะลึกมากนะคะ เอาแค่ตอนง่าย ๆ เพียง 1-2-3
1. สมัคร
กรอกแบบฟอร์ม DS-160 ได้ที่ https://ceac.state.gov/genniv/
สำหรับผู้ที่ไม่ถนัดภาษาปะกิต เปิดมาแล้วเกิดอาการตื่นตะลึงกับภาษาอังกฤษเป็นหน้า ๆ ยังผลให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ใจสั่น ไปต่อไม่ถูก..
ขอแนะนำให้เลือก Tooltip Language มุมขวาบนของหน้าเป็นภาษาไทย (1)
แล้วเวลาท่านนำเม้าส์ไปจ่อที่ไหน ตรงนั้นจะขึ้นภาษาไทยแปลกำกับให้จ้า..
หลังจากเลือก Tooltip Language เป็นภาษาไทยแล้ว ให้เริ่มตรง Get Started นั่นแหละค่ะ (2)
เลือกThailand ส่วนจะบางกอก หรือเจียงใหม่ อันนี้ก็แล้วแต่ว่าจะไปยื่นขอวีซ่าที่ไหนนะคะ
หลังจากนั้นก็เริ่มกรอกกันได้เลย (3)
พอกดไป ก็จะได้หน้านี้ค่ะ จดเลข Application ID ( ลูกศรชี้ )ไว้ให้ดี ๆ นะคะ เพราะเราต้องใช้เลขนี้ไปจนกว่าจะได้สัมภาษณ์เลยแหละ
ระหว่างกรอกฟอร์ม DS-160 ก็ควรจะหมั่นกด SAVE บ่อย ๆ นะคะ
สำหรับรูปถ่ายที่หลายคนกังวลกันจั้งงงงง จนเอาไปล้อเลียนกันเป็นที่สนุกสนานมากมาย ก็ขอบอกว่าไม่ต้องกังวลมากค่ะ
แค่ถ่ายรูปให้เห็นหน้าตรงชัดเจน เว้นระยะพอดี ไม่สว่างเว่อหรือมืดเกิน ถ้าใส่แว่นก็อย่าให้มีเงาสะท้อนบนแว่น เท่านั้นเองค่ะ
ดูตัวอย่างภาพที่“พอดี” ได้ที่นี่นะคะ ซ้ายคือไม่ผ่าน ขวาคือผ่านค่ะ
http://travel.state.gov/visa/visaphotoreq/photoexamples/photoexamples_5331.html
ถึงจะแนบรูปไปในฟอร์ม DS-160 ผ่านแล้ว ยังไงวันที่สัมภาษณ์ก็ขอให้แนบรูปแบบเป็นใบ ๆ ไปด้วยนะคะ
รูปถึงจะไม่ยิ้ม ก็ควรจะมีชีวิตชีวานี๊ีดดดดด นึง.. ของว่านนี่รูปถ่ายแบบหน้าสดเลย เยินมาก สีหน้าเรียบเฉยสุด ๆ 555
รูปแนบแบบฟอร์มทางคอมพ์ไปผ่านค่ะ แต่ไปตกม้าตายตอนตรวจเอกสาร น้องจนท.เค้าทำหน้ายุ่งแล้วถามว่ามีรูปอื่นไหมคะ
( คงเว้นไว้ในใจว่าหน้าพี่สดเกินนะคะ..รูปนี้ ยังกะ mugshot ก็ไม่ปาน (^^’ ) )
ยังดีที่พกรูปอื่นที่เป็นใบ ๆ ไปด้วยตามคำแนะนำ เลยรอดค่ะ
อ้อ สำหรับคนที่ทำสีผมใหม่ หรือกว่าจะนัดสัมภาษณ์ได้ก็รอจนหนวดเครางอก ( อุย.. )
อาจจะสงสัยว่ายังงี้ต้องเปลี่ยนรูปใหม่ไหม ขอบอกว่าไม่ต้องค่ะ
จะต้องแนบรูปใหม่ในกรณีที่หน้าตาต่างไปจากเดิมมาก เช่น ศัลยกรรมแบบหน้าตาต่างไปจากเดิมเลย
หรือประสบอุบัติเหตุ ( ขออย่าให้เกิดกับใครเลยนะคะ ) หรือไปสัก/ลบรอยสัก เจาะขนาดใหญ่บนหน้ามา
หรือลดน้ำหนักฮวบ ๆ หรือน้ำหนักพุ่งพรวด ๆ หรือแปลงเพศ ถ้ากรณีเหล่านี้ควรต้องแนบรูปใหม่ค่ะ
2. นัด
ซื้อ PIN เพื่อนัดหมายเวลาสัมภาษณ์
พอได้เลข Application ID แล้วก็อย่ารอช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีบัตรเครดิตในมือ ซื้อ PIN เพื่อจองเวลาสัมภาษณ์กันเล้ย..
จริง ๆ แล้วควรจะกรอกฟอร์ม DS-160 ให้เสร็จก่อน แต่ถ้าใครมั่นใจว่ากรอกได้ครบถ้วน ไม่มีปัญหา จะซื้อ PIN เลยก็ได้ค่ะ
ว่านเองก็ซื้อ PIN ก่อนกรอกเสร็จ แหะแหะ แอบสารภาพว่าอ่านไม่ละเอียดว่าควรกรอกฟอร์มให้เสร็จก่อนซื้อ PIN (^^’ )
ซื้อ PIN เพื่อจองเวลาสัมภาษณ์ได้ 3 วิธีค่ะ
(1) โทรสั่งทาง Call Center
(2) ซื้อที่ที่ทำการไปรษณีย์ โดย PIN นั้นจะใช้ได้เวลาบ่ายโมงของวันทำการถัดไป
(3) ซื้อออนไลน์ทางเว็บไซต์โดยใช้บัตรเครดิต
ว่านว่าถ้ามีบัตรเครดิต ซื้ออนไลน์ (3) สะดวกสุดค่ะ ซื้อแล้วใช้ได้เลยด้วย ไม่ต้องรอ XD
ทั้งซื้อ PIN ออนไลน์ ทั้งจองเวลาสัมภาษณ์ ก็ทำได้ที่เว็บเดียวกันเลยค่ะ https://thailand.us-visaservices.com/Forms/DetermineTCN.aspx
กด Yes จากนั้นก็ Next เลย ถ้ากดไปแล้วรู้สึกว่ามันแปลก ๆ หรือแสดงผลไม่ครบยังไง ลองเปลี่ยนบราวเซอร์ดูนะคะ
ตอนนั้นว่านใช้ Chrome แล้วต๊อง ๆ แต่ใช้ Firefox แล้วฉลุยแฮะ ยังดีไม่ต้องถึงขนาดขุด IE ขึ้นมา (-“- )
จากนั้นจะมาหน้านี้ กรอกรายละเอียดส่วนบนให้ครบ -> Submit แล้วก็จะมีหน้าให้เราซื้อ PIN โดยตัดบัตรออนไลน์ได้เลยค่ะ
เรื่องนัดเวลาสัมภาษณ์นี่ก็แล้วแต่ดวงใครดวงมันนะคะ (^^’ ) ว่านจองตอนต้นปี.. เขียวขจีสว่างไสว เลือกจิ้มได้ดังใจนึกเลยค่ะ
อย่าลืมนะคะว่าเราต้องไปถึงสถานทูตก่อนเวลาสัมภาษณ์ครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย กะ+เผื่อเวลาไว้ด้วยเน้อ
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องการนัดสัมภาษณ์ได้ที่ Youtube ของทางสถานทูตเลยค่ะ
httpv://www.youtube.com/watch?v=0pp9Pb0-qbw
หลังจากนัดสัมภาษณ์แล้ว ก็ได้เวลาจ่ายค่าธรรมเนียมยื่นขอวีซ่าซะที ( ปาดน้ำตา )
ค่าขอวีซ่าท่องเที่ยว B-2 อยู่ที่ US $160 ถ้วน ซึ่งสามารถไปจ่ายได้ที่ที่ทำการไปรษณีย์เท่านั้น ตัดบัตรออนไลน์ไม่ได้ (>_< )
สามารถเช็คอัตราเป็นเงินบาทได้ที่ไฟล์.pdf ในลิ้งค์นี้ค่ะ ตอนว่านขอ อยู่ที่ 5,120 บาท ตอนนี้ปรับลงมาเป็น 4,800 บาทแล้ว (>>_<< )
http://www.thailandpost.com/service-detail.php?sid=45&service=174
ในวันที่ไปจ่าย แนะนำว่าควรพกสำเนาพาสปอร์ตไปด้วยค่ะ จะถ่ายรูปเก็บไว้ในมือถือก็ได้
อันนี้ในเว็บไซต์ของสถานทูตหรือปณ.ไทยก็ไม่มีบอกไว้ แต่ว่านไปเจอคุณน้องหน้าแฉล้มที่เคาน์เตอร์ปณ.ไทยร้องขอ เล่นเอาเหวอไปเลย
เดาว่าอาจเคยมีกรณีการสะกดชื่อภาษาอังกฤษผิด แล้วโบ้ยกันไปมา เลยยึดถือเอาตามสำเนาพาสปอร์ตซะเลย ชัวร์ดี
ยังดีที่ว่านถ่ายรูปพาสปอร์ตติดมือถือไว้ด้วย เลยรอดไป.. บางปณ.อาจจะไม่ถามหานะคะ ก็เผื่อ ๆ ไว้ก็แล้วกัน
3. สัมภาษณ์
สัมภาษณ์ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา ถนนวิทยุ
โดยเตรียมกาย ใจ และเอกสารให้ครบถ้วนดังนี้
(1) ไปถึงสถานทูตก่อนเวลาสัมภาษณ์ครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
(2) เตรียมอุปกรณ์กระดาษเพื่อสร้างความบันเทิงและผ่อนคลายให้กับตนเองและบุตรหลาน( หากมี ) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า”หนังสือ” (^^ )
เพราะเมื่อผ่านรั้วสถานทูตแล้ว จะไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ รวมถึงกระเป๋า เป้ รถเข็นใด ๆ ติดตัวเข้าไปค่ะ
(3) เตรียมเอกสารที่จำเป็นในการขอวีซ่า
– พาสปอร์ตที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน โดยนับอายุจากวันที่คาดว่าจะเดินทางกลับจากอเมริกา ถ้ามีเล่มเก่า ควรนำมาด้วย
– รูปถ่าย ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั่นแล..
– ใบคอนเฟิร์มแบบฟอร์ม DS-160 ปริ้นต์ให้เห็นบาร์โค้ดชัดเจนนะคะ ใบแรกใบเดียวพอค่ะ เว้นแต่อยากจะปริ้นต์ทั้งหมดไว้อ่านด้วย
– หลักฐานการชำระค่าขอวีซ่า ทั้งสองใบเลยนะคะ ใบรับเงินกับใบชมพู
– หากเคยเปลี่ยนชื่อ-สกุล ให้นำใบเปลี่ยนชื่อ-สกุลไปด้วย
– หากขอวีซ่าพร้อมคนในครอบครัวใกล้ชิด ( สามี/ภรรยา พ่อ/แม่/ลูก พี่/น้อง เท่านั้น ) ให้นำหลักฐานแสดงความเกี่ยวข้องไปด้วย
– อื่น ๆ
.. คำเดียวสั้น ๆ แต่ความหมายช่างกว้างขวาง.. (-_-‘ ) คำเดียวนี่แหละ ที่ช่างเป็นที่น่าพรั่นพรึงสำหรับชาวฟรีแลนซ์..
ถ้าเป็นพนง. บริษัทก็ง้ายง่าย.. หนังสือรับรองการทำงาน + สมุดบัญชีใส ๆ
แต่เดี๋ยวก่อน!!! แม้แต่ในเว็บของสถานทูต ก็ไม่ได้ระบุไว้เป็นที่ชัดเจนว่า “Additional Documentation May Be Required” นั้น
http://travel.state.gov/visa/temp/types/types_1262.html#documentation
แท้จริงแล้วสถานทูตต้องการเอกสารอะไรบ้าง..
ข้อความที่มีก็ค่อนข้างคลุมเครือ เช่นอาจต้องการเอกสารที่แสดงว่า..
ไปทำอะไร / ไปแล้วจะกลับไหม / ไป-กลับเมื่อไหร่ / จ่ายไหวไหม
ตอนว่านจะไปขอ ก็เพียรอ่านอยู่หลายเว็บ ก็ไม่ได้มีอะไรชี้ชัดว่าแล้วหมู่เฮาชาวฟรีแลนซ์ควรใช้หลักฐานอะไร..
ก็เลยหอบไปหมดบ้านเลยค่ะ อะไรที่นึกได้ว่าเป็นหลักฐานการงาน รายได้ ความผูกพันกับประเทศไทย.. ขนไปโหม๊ดดดด
หนังสือรับรองการทำงาน.. ไม่มีแน่นอน เลยหอบเอาหนังสือรับรองการเสียภาษีและหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแทน
เพื่อเป็นหลักฐานว่าฉันมีรายได้ แถมเสียภาษีถูกต้องด้วยนะ แฮ่ม..
ประกอบกับสมุดบัญชี ทำสำเนาเรียบร้อย มีเงินเข้าเงินออกตลอด
เขียนจดหมายชี้แจงการทำงานและที่มาของรายได้เหมือนที่ไปขอวีซ่าญี่ปุ่น ทั้งผลงานที่เคยทำมา ทั้งงานเขียน ทั้งงานแปล ทั้งบล็อก
บล็อกก็เลือกปริ้นต์หน้าที่มีคุณแม่ด้วย เพื่อแสดงว่าฉันมีครอบครัว มีความผูกพันอยู่ที่ไทยแลนด์แดนสยามนี่นะจ๊ะ
กลัวว่าจะแสดงความผูกพันต่อประเทศไทยไม่พอ
เลยเอาหนังสือรับรองชำระเงินกู้ พร้อมสำเนาหนังสือกรรมสิทธิ์คอนโดไปด้วย เพื่อแสดงว่ามีภาระผูกพันอยู่
หอบไปแม้กระทั่งสัญญาเงินกู้คอนโด และหนังสือรับรองคุณวุฒิ ( ชักเยอะละ ) ราวกับจะไปชั่งกิโลขาย เลยพอเหอะ..
อ้อ มีแผนการเที่ยวคร่าว ๆ ด้วยค่ะ แต่ไม่ได้มีหลักฐานการจองตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรมที่พักแต่อย่างใด
ในเว็บสถานทูตบอกย้ำว่ายังไม่ต้องจ่ายเงินตั๋วเครื่องบิน+โรงแรมใด ๆ ทั้งนั้น จนกว่าจะได้วีซ่า
บอกเล่าคร่าว ๆ เพิ่มเติม.. เพราะแต่ละคนก็มีภูมิหลังต่าง ๆ กันไป..
ว่านเคยไปเรียนที่อเมริกา แต่นั่นก็นานนนนนนนนนนน มากแล้วค่ะ
แต่ก็ทำให้สื่อสารภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างดี ไม่มีปัญหา..
ไปอเมริกาครั้งสุดท้าย ปี 2010 ..อยู่ 2 วัน คือวีซ่า 10 ปีตอนนั้นจะหมด ก็เลยไปใช้ซะให้คุ้ม ( เรอะ )
ตอนนั้นก็หวั่น ๆ อยู่เหมือนกันค่ะ เพราะเข้าประเทศก่อนวีซ่าจะหมดอายุแค่ 2 วัน
แต่พี่อิมฯ ( ตม. ) ก็ปั้มให้อยู่ได้ 3 เดือนแน่ะ
ว่านมีนัดกับเพื่อนไปเที่ยวญี่ปุ่นต่อ เลยอยู่ได้แค่ 2 วัน 555
ทำยังกะไปเที่ยวญี่ปุ่น แล้วทรานสิทอเมริกายังไงยังงั้น (-“- )
เดี๋ยวเรื่องนี้ว่าง ๆ ต้องเขียนเล่าเป็นบล็อกเหมือนกันค่ะ มีเรื่องลุ้นเยอะดี 2 วัน อิน อเมริกา.. 555
ถึงจะเคยไปอเมริกา แต่ครั้งสุดท้ายที่ขอวีซ่า ตอนนั้นสถานะเป็นนักศึกษาค่ะ
ครั้งนี้เป็นผู้ทำงานชนิดไร้หลักแหล่ง แถมยังโสด เลยค่อนข้างหวั่นเล็กน้อย
ถึงจะคิดว่าตัวเองเครดิตทางการเดินทางค่อนข้างดีอย่างที่บอกก็เหอะ (>_< )
และแล้ว.. ก็ถึงวันสัมภาษณ์
(>>_<< )
เมื่อไปถึง จะมีน้องจนท. คอยดูแลคิวค่ะ เท่าที่อ่านมาชุดฟอร์มจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ไม่แน่ใจกี่เดือนเปลี่ยนที
ตอนต้นปี 2013 ที่ว่านไปมา จะเป็นชุดวอร์มสีน้ำเงินม่วงตามรูปค่ะ ถามหางแถวก็ได้ ว่าใช่แถวรอสัมภาษณ์วีซ่าอเมริกาไหม
ผู้คนหนาตาพอประมาณ..
เมื่อถึงเวลา น้องจนท. จะเรียกผู้ที่ได้เวลาสัมภาษณ์ตามคิวเข้าไป ผ่านการฝากกระเป๋าและสัมภาระ
แนะนำว่าพอใกล้ถึง ให้ปิดโทรศัพท์มือถือให้เรียบร้อยเลยค่ะ เพราะเค้าจะให้ปิดเครื่อง ไม่ใช่แค่เปิดสั่น
ผ่านการตรวจเช็คอาวุธ จากนั้นก็เข้าไปข้างในได้
พอเข้าไปก็จะมีการตรวจเอกสารเบื้องต้น นำเอกสารใส่แฟ้ม กรอกใบส่งไปรษณีย์สีฟ้า
จากนั้นก็ไปต่อแถวห้องด้านในเพื่อเช็คเอกสาร และสัมภาษณ์เบื้องต้นจากจนท. คนไทย แสกนนิ้วมือ
แล้วก็เข้าคิวรอสัมภาษณ์กับจนท. ฝรั่งได้เลย..
สามารถสัมภาษณ์ได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษนะคะ
ใครที่ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงก็ไม่ต้องกังวล เป็นที่กล่าวขานว่าจนท. พูดไทยกันเก่งม้าก..
ยอมรับว่าตื่นเต้นเหมือนกันค่ะ โชคดีที่เข้าคิวไม่นานเท่าไหร่ ก็ได้เวลาสัมภาษณ์
ก็ยื่นแฟ้มเอกสารใบคอนเฟิร์ม DS-160 + พาสปอร์ตให้
หลังจากทักทาย จนท.กงสุลก็เริ่มสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษว่าจะไปอเมริกาทำอะไร
ไปกี่วัน ไปไหนบ้าง ก็ยิ้มแล้วก็บอกไปว่าไปเที่ยว อธิบายไปว่าวางแผนว่าจะไปไหนบ้าง
จนท. ถามต่อว่าเคยไปอเมริกาไหม ไปครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ก็ตอบไปค่ะ
มีตอบคำถามผิดด้วยล่ะ ก็อีตอนจนท. ถามว่าเคยไปอเมริกาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่เนี่ยแหละ
ดันตอบไปว่า 10 ปีที่แล้ว จริง ๆ แล้วคือ 2 ปีก่อน ที่ว่า 10 ปีก่อนนั้นคือตอนที่ได้วีซ่าครั้งสุดท้าย
คือไปตอนได้วีซ่า แล้วอีก 10 ปีถึงไปอีกครั้งนึง คือเมื่อปี 10 ที่ผ่านมา ดีที่นึกได้เลยตอบไปใหม่ว่า 2 ปีที่แล้ว
( แล้วจริง ๆ แล้วก็ยังผิดอยู่ดี เพราะ2010-2013 มันต้องเป็น 3 ปีที่แล้ว ตอนนั้นพึ่งปีใหม่หมาด ๆ ยังหลงปีอยู่ (-“- ) )
ทีนี้ก็มาถึงคำถามสำคัญ.. ทำงานอะไร
ก็เลยยิ้มกว้างงงง แล้วอธิบายไปว่าเป็นนักแปล เป็นบล็อกเกอร์ เขียนบล็อกเกี่ยวกับอะไรบ้าง
มีรายได้ยังงี้ บลา ๆ ๆ ( แต่ก็ไม่ได้ยื่นเอกสารใด ๆ ประกอบไป รอจนท. เรียกดู )
จนท. ก็ถามว่ามีหนังสือรับรองการทำงานไหม ก็เลยทำหน้ายุ่งไปนิดนึง (-“- )
แล้วอธิบายไปว่าไอเป็นฟรีแลนซ์อะยู ไม่มีหรอก หนังสือรับรองอะ เพราะเค้าจ้างเป็นจ๊อบ ๆ ไป
ไม่ได้ผูกปิ่นโตกันประจำ ใครเค้าจะออกหนังสือรับรองให้
มีไอ้เนี่ย ได้แมะ.. แล้วก็ยื่นหนังสือรับรองการหักภาษีปึกนึงไปให้ดูค่ะ
ถ้าจำไม่ผิด จะเป็นเอกสารอย่างเดียว นอกเหนือไปจากสมุดบัญชีมั้ง ที่ยื่นให้จนท. กงสุลดู
ตอนจนท. รับไปดู ว่านก็ทำหน้านิ่ง ๆ แล้วคิดในใจว่าเอกสารภาษาไทยจะอ่านออกไหมหว่า ไม่ได้แปลด้วย
แต่เท่าที่ทราบ จนท. เหล่านี้ก่อนมาไทย ต้องศึกษาภาษาไทยแตกฉานพอสมควรแหละ
เลยกลายเป็นต่างฝ่ายต่างทำหน้านิ่งกันไปมาทั้งคู่ จนท. ก็เปิด ๆ ดูหนังสือรับรองการหักภาษีแล้วคืนให้
ว่านก็รอ ( ทำไม??? ) อยู่ว่าจะถามจะอยากดูเอกสารอย่างอื่น พวกบล็อกเบลิ๊ก งานแปลไหม ผ่อนบ้านอะไรไหมจะได้หยิบให้ดู
จนท. ก็ถามว่า Are you married?
ก็เลยยิ้มกว้างเหมือนเดิม ( ถามอะไรยิ้มสู้ไว้ก่อน 555 ) แล้วตอบฉะฉานว่า “No, I’m single.”
แล้วก็ยิ้มกว้างงงงงง อีกที รอคำถามต่อไป..
คุณจนท. กงสุล ( ไม่แน่ใจว่าทำตาปริบ ๆ ไหม ) ก็กล่าวขอบคุณที่มาให้สัมภาษณ์ แล้วก็เก็บแฟ้มพาสปอร์ตไป..
ยื่นใบปณ. สีฟ้าคืนมาให้ บอกให้ไปจ่ายตังค่าปณ. ที่เคาน์เตอร์ด้านหน้าได้เลย..
เฮ้ยยยยยยยยยยยยยยยยยยยย..
เดี๋ยวก๊อนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนน..
จบแล้วเหรอ แค่เนี้ยะ??? ยังไม่ได้ให้ดูเอกสารอีกล้านแปด ไม่ถามแล้วเหรอ เฮ้ย ๆ ๆ ๆ ๆ
ในใจตอนนั้นระเบิดลงมาก!!! ตื่นตระหนกประหนึ่งเกิดวินาศกรรมกลางเมือง.. สติวิ่งกระเจิงไปคนละทางสองทาง..
สิ่งแรกที่ผุดมาในหัวก็คือว่า ยัยว่านนนนน ทำไมไม่บอกเค้าไปว่า I’m single and living with my mother.
จนท. เค้ายังไม่รู้เลยว่าเธอมีแม่อยู่ อยู่กับแม่ ต้องดูแลแม่ ต้องกลับมาเมืองไทยแน่ ๆ เพราะแม่อยู่ที่นี่…… (>_< )
อนิจจา..
สายไปซะแล้ว..
OrZ
เอาฟละ.. เค้าเก็บพาสปอร์ตไป แสดงว่าได้วีซ่า( ค่อนข้าง )แน่ แต่จะได้กี่ปีล่ะเนี่ย
ถ้าให้มาปีเดียวนี่.. ไม่น้าาาาาาาาาาาาาาา (>_< )
ก็ได้แต่เดินหงอย ๆ ไปจ่ายค่าปณ. รับของที่ฝากไว้ แล้วก็โผเผออกมาจากสถานทูตค่ะ..
ใช้เวลาไปประมาณชั่วโมงกว่า ๆ ได้ นับว่าไวกว่าที่คิดมาก หนังสงหนังสือยังไม่ทันอ่านสักกี่หน้า..
เลยไปนั่งปลงตกดื่มกาแฟอยู่วีรสุอยู่พักนึง แล้วก็ไปกินข้าวกลางวันที่สงวนศรีค่ะ
เมนูเดิม ๆ ยำวุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเนื้อสับ กล้วยไข่เชื่อม ส่วนไข่พะโล้ของโปรดซื้อกลับบ้าน..
หลังจากกลับมาบ้านก็ได้แต่นั่งดู-นอนดู-นอยด์ดูใบเสร็จค่า EMS แล้วก็เขกกะโหลกตัวเองว่าไม่น่าเล้ย
มีหลักฐานอะไรไม่ยื่น ไม่บอกไป.. มัวแต่รอให้เค้าถาม..
บทเรียนจากการสัมภาษณ์ของว่าน มีหลักฐานอะไร ยื่นประกอบการสนทนาไปก่อนเลยนะคะ ไม่ต้องรอจนท. ร้องขอ (Y_Y )
หลังจากเขกกระโหลกตัวเองทางจิตอยู่ได้ 2 วัน.. พาสปอร์ตก็กลับมาค่ะ ไวมาก!!! (O_O/ )/!!!
ในซองก็จะมีเอกสารแนบบอกว่าให้ตรวจตราความถูกต้องของวีซ่าให้ดี
– ชื่อ-สกุล สะกดถูกต้องไหม
– เลขที่พาสปอร์ต ถูกต้องไหม
– เพศ วันเดือนปีเกิด สัญชาติ ถูกต้องไหม
– รายละเอียดอื่น ๆ เช่น ประเภทวีซ่าก็ควรดูด้วยนะคะ
ถ้าผิดต้องรีบแจ้งแก้ไขด่วนค่ะ..
และแล้วก็ได้มา..
10 ปี……………………………. ( กรุณามโนภาพกระต่ายโคนี่วิ่งน้ำตานองไปรอบ ๆ ห้อง )
บล็อกเรื่องราวการไปลั้นลาอเมริกาอยู่เดือนกว่า คงจะตามมาในไม่ช้า
หลังจากที่กลับมาแล้ว ว่านก็ว่าจะเริ่มจากการเขียนบล็อกเล่าเรื่องขอวีซ่าสหรัฐอเมริกาในฐานะฟรีแลนซ์นี่แหละ
แต่ทีนี้มันยังมีข้อมูลบางประการที่ว่านว่า“ไม่เคลียร์” และหลายอย่างก็“เขาว่ากันว่า”กันไป ที่ได้ยินบ่อยก็เช่น..
..เขาว่ากันว่าอย่าไปบอกสถานทูตเชียวนะว่ามีญาติมีเพื่อนอยู่อเมริกา เดี๋ยวเขากลัวว่าเราจะไปเป็นโรบินฮู้ด แล้วจะไม่ให้วีซ่า
..เขาว่ากันว่าเงินต้องเหลือติดบัญชีเยอะ ๆ นะ พวกเงินเข้าเท่าไหร่ก็ออกหมดนี่ เขาไม่ให้วีซ่าหรอก ต้องบัญชีสวย ๆ เงินเหลือเยอะ ๆ
เขาว่ากันว่า.. กันจั้ง
ว่าแล้วว่านก็เลยติดต่อไปยังสถานทูตอเมริกา ด้วยความช่วยเหลือของพี่ต่ายและพี่เปี๊ยก ขอกราบขอบพระคุณมา ณ ที่นี้..
ก็ได้คำตอบจาก Mr. Walter Braunohler, Spokesman ของ U.S. Embassy Bangkok ดังนี้ค่ะ
ว่านน้ำ : จริงไหมคะ ที่เขาว่าถ้าเราบอกทางสถานทูตว่ามีญาติหรือมีเพื่อนอยู่ที่อเมริกา แล้วทางสถานทูตจะมองว่าเราอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะไปเป็นฮู้ดที่นั่น เลยไม่ให้วีซ่าซะเลย
การบอกว่ามีเพื่อนมีญาติอยู่ที่อเมริกานี่มีผลต่อการพิจารณาวีซ่าไหมคะ
คุณวอลเตอร์ : ไม่จริงเลย! การไปเยี่ยมเพื่อนเยี่ยมครอบครัวในต่างแดนนั้น เป็นเหตุผลหลักอย่างหนึ่งของการท่องเที่ยว แต่สิ่งที่เรา-สถานทูต-จะให้น้ำหนักด้วยก็คือว่าผู้ขอวีซ่าคนนั้นมีเหตุจูงใจอื่น ๆ มากพอที่เขาจะกลับมาเมืองไทยด้วยไหม เวลาเราสัมภาษณ์ผู้ขอวีซ่า เราจะพยายามประเมินว่าผู้ขอมีภาระความผูกพันกับเมืองไทยมากแค่ไหน เราต้องการดูว่าผู้ขอมีความจริงใจและพูดความจริงในระหว่างที่สัมภาษณ์เพียงไร การแสดงออกใด ๆ ระหว่างการสัมภาษณ์ที่ทำให้จนท. กงสุลเข้าใจผิด อาจส่งผลเสียต่อการพิจารณาอนุมัติวีซ่านั้น ๆ
ว่านน้ำ : ถ้ามีเงินเหลือติดบัญชีน้อย จะมีผลต่อการพิจารณาวีซ่าจริงไหมคะ
คุณวอลเตอร์ : ไม่จำเป็น เราแค่ต้องการดูว่าผู้ขอสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางของตนเองได้ ถ้ามีเงินเหลือติดบัญชีน้อย ก็ควรต้องอธิบายให้ได้ว่าแล้วจะหาเงินหรือเอาเงินจากไหนมาจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
– เสริมนิดนึงค่ะ รายได้หรือเงินในบัญชี ควรจะต้องสอดคล้องกับระยะเวลาในการเดินทางด้วย ไม่ใช่ว่ามีเงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท แต่จะไปอเมริกาเป็นเดือน ๆ แบบนี้ก็ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลค่ะ เว้นจะถูกหวย หรือรวยหุ้น อันนี้ก็อธิบายไปค่ะ ( ฮา ) –
ว่านน้ำ : คนที่ทำงานฟรีแลนซ์ อย่างเช่นล่าม นักแปล ช่างภาพ กราฟฟิก หรือคนที่ทำงานเป็นจ๊อบ ๆ ไป ไม่สามารถขอหนังสือรับรองการทำงานได้ จะแสดงหลักฐานการทำงาน หรือความผูกพันต่อประเทศไทยยังไงดี เพราะคนกลุ่มนี้มักจะกังวลไม่กล้ามาขอวีซ่า เพราะตัวเองไม่มีหนังสือรับรองการทำงาน เดี๋ยวถูกปฏิเสธวีซ่าแล้วจะประวัติเสีย
คุณวอลเตอร์ : มีวิธีมากมายที่จะสามารถแสดงหลักฐานและความผูกพันได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือรับรอง การที่คุณสามารถอธิบายหน้าที่การงาน ลักษณะงานที่ทำอยู่ และแสดงหลักฐานเช่นชิ้นงานได้นั้น มีผลมากกว่าตัวเอกสารใด ๆ ซะอีก ถึงคุณจะเป็นฟรีแลนซ์ คุณก็ควรจะสามารถอธิบายถึงตัวงาน เป้าหมายของงานและอื่น ๆ ได้ จริงไหม
เราก็ชอบดูตัวอย่างงานของคุณนะ จะเป็นรูปถ่าย ภาพวาด portfolio หรือจะเป็นตัวงานที่เคยออกสื่อก็ได้
อันที่จริงแล้ว หลายครั้งที่หลักฐานต่าง ๆ เหล่านี้ มีน้ำหนักมากกว่าหนังสือรับรองการทำงานเสียอีก
ว่านน้ำ : แล้วถ้าเป็นนักศึกษาจบใหม่ อยากไปเที่ยวอเมริกาก่อนที่จะเข้าทำงานบริษัท เพราะเดี๋ยวถ้าทำงานบริษัทแล้วจะลางานยาก จะแสดงหลักฐานความผูกพันยังไงดีคะ
คุณวอลเตอร์ : การออกเดินทางท่องโลกกว้างหลังเรียนจบและก่อนการทำงานเป็นไอเดียที่ดีนะ และข้อดีมาก ๆ ของการขอวีซ่าท่องเที่ยวอเมริกาของคนไทยก็คือเรามักจะให้วีซ่าคุณถึง10ปีแน่ะ จะเข้าจะออกกี่ครั้งก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญของการขอวีซ่าก็คือคุณต้องอธิบายให้ได้ว่าคุณมีความมุ่งมั่นที่จะกลับมาเมืองไทย ตัวอย่างนึงที่จะแสดงว่ายังไงคุณก็จะกลับมาเมืองไทยแน่ ๆ ก็คือการไปเที่ยวก่อนที่จะกลับมารับปริญญา ไม่จำเป็นต้องเป็นทางนี้หรอกนะ แต่มันก็เป็นตัวอย่างที่ดีไงล่ะ
ว่านน้ำ : มีอะไรอยากฝากหรือแนะนำถึงผู้ขอวีซ่าชาวไทย หรือคนไทยที่อยากไปเที่ยวอเมริกาไหมคะ
คุณวอลเตอร์ : เราขอแนะนำให้ผู้จะขอวีซ่าเข้าไปอ่านรายละเอียดและขั้นตอนการขอวีซ่าได้ที่ http://bangkok.usembassy.gov/ การขอวีซ่าอเมริกานั้นไม่ยากเลย มันง่าย ๆ แค่ 1-2-3 สมัคร-นัด-สัมภาษณ์
httpv://www.youtube.com/watch?v=x8fC5a4n4i8
คนไทยส่วนใหญ่มีเปอร์เซ็นต์ขอวีซ่าผ่านสูงมาก แล้วเราก็ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวสู่สหรัฐอเมริกา เอกสารที่จำเป็นจริง ๆ แล้วก็มีแค่พาสปอร์ต และแบบฟอร์มขอวีซ่าที่กรอกสมบูรณ์แล้ว คุณอาจจะเตรียมเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณามาด้วยก็ได้ และผู้ขอวีซ่าเอง ก็ควรจะอธิบายให้ได้ด้วยว่าคุณจะเที่ยวไปอเมริกาเมื่อไหร่-ที่ไหน-ทำไม
เราไม่แนะนำให้ผู้ขอวีซ่าซื้อตั๋วเครื่องบินหรือจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางใด ๆ ก่อนการสัมภาษณ์และรู้แน่นอนว่าจะได้รับวีซ่า
ประเทศสหรัฐอเมริกามีที่ ๆ น่าสนใจให้ไปชมไปเที่ยวอยู่มากมาย ถ้าคุณยังไม่รู้ว่าจะเริ่มหาข้อมูลเจ๋ง ๆ ได้จากไหน ก็เข้าไปดูได้ที่ http://www.DiscoverAmerica.com/ เราอยากเชิญชวนและสนับสนุนให้คนไทยมาเที่ยวอเมริกากันเยอะ ๆ เรายินดีต้อนรับ และคุณจะบอกตัวเองว่าคิดถูกแล้วที่มาเที่ยวอเมริกา!
ว่านน้ำ : ขอขอบคุณคุณวอลเตอร์และทางสถานเอกอัตรราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเป็นอย่างสูงที่สละเวลาและเอื้อเฟื้อข้อมูลมา ณ ที่นี้นะคะ
แล้วพบกันในบล็อกกิน-เที่ยวอเมริกาฝั่งตะวันตกกับว่านน้ำ
แถมท้ายด้วยบล็อก 5 วันไปเดินเล่นกันที่ญี่ปุ่นนะคะ อีกไม่นานค่ะ (^^ )
3 thoughts on “เล่าเรื่องขอวีซ่าสหรัฐอเมริกาในฐานะฟรีแลนซ์ และไขความจริง”เขาว่ากันว่า”ในการขอวีซ่าอเมริกา”
Comments are closed.