เมื่อวันที่ 12.12.12 ที่ผ่านมา (แหม เลขสวย) รายการ“เชฟกระทะเหล็ก ประเทศไทย” ได้จัดการแข่งเฉลิมฉลองวันพ่อของไทย ด้วยโจทย์ “วัตถุดิบอันล้ำค่า บรรณาการจากประเทศญี่ปุ่น” ซึ่งก็เป็นอีกตอนที่ว่านร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินออกอากาศ จึงขอนำบรรยากาศในวันนั้นมาเล่าสู่กันฟังเช่นเคยนะคะ = )

เนื่องจากเป็น “เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย” ตอนพิเศษเพื่อเฉลิมฉลองเดือนของพ่อ.. วัตถุดิบลับจึงมีความพิเศษเป็นอย่างยิ่งด้วยเช่นกัน
ซึ่งก็ได้แก่..

.. “ปลาหางนกยูง” นั่นเอง-เอง-เอง..
.. ไม่ใช่ละ (^^’ )
” ปลาทูน่าบลูฟิน” หนัก 72 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 720,000 บาท นั่นเอง-เอง-เอง..

  ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/ironchefthailand

ก็นับว่าสมกับโจทย์ความเป็น “วัตถุดิบอันล้ำค่า บรรณาการจากประเทศญี่ปุ่น” จริงๆ ค่ะ
ตอนที่ทราบว่าวัตถุดิบลับจะเป็น Bluefin Tuna ก็คิดอยู่ตามที่ได้ออกปากไปในตอนท้ายรายการว่าBluefin Tuna นั้นเป็นวัตถุดิบที่มีความ”ง่าย”และ”ยาก”ในเวลาเดียวกัน
“ง่าย” เพราะเป็นปลาที่มีรสอร่อยในตัว กลิ่นคาวไม่แรง ก้างน้อย ไขมันมาก เรียกว่าทำอะไรก็อร่อย
“ยาก” เพราะเป็นปลาที่คุ้นลิ้นและแพร่หลาย ยากที่จะทำอะไรมาให้ตื่นตาตื่นลิ้นได้ อีกทั้งความมันของปลาเองก็เป็นดาบสองคมได้เช่นกัน..
ก็มาดูกันนะคะ ว่าทั้งเชฟกระทะเหล็กและเชฟผู้ท้าชิง ใครจะตีโจทย์ได้”แตก”กว่า..

ในวันนั้นก็เป็นการประลองระหว่างเชฟผู้ท้าชิง ได้แก่เชฟทากาชิ ฮามาโอกะ(Takashi Hamaoka)แห่งร้านKatana ตึกEight Thonglor ซอยทองหล่อ 8 ผู้ชำนาญอาหารไคเซกิ และเคยปรุงอาหารให้กับคนสำคัญของประเทศญี่ปุ่นมาแล้วอย่างมากมาย กับ Iron chef อาหารญี่ปุ่น เชฟบุญธรรมเช่นเคยค่ะ

คิวถ่ายทำก็ตั้งแต่ 19.11.12 วันนั้นลุยเดี่ยว เพราะเป็นกลางวันวันธรรมดา เลยไม่ได้ชวนใครไปด้วย
ไปถึงก็ฟิตติ้ง แต่งหน้า ทำผมตามระเบียบ ได้ชุดคอถ่วงเช่นเคย (เอ๊ะ ยังไง) คราวที่แล้วเป็นสีน้ำเงินเด่นเด้ง คราวนี้เป็นสีส้มอิฐ
ไม่รู้เทปหน้าจะได้เสื้อคอถ่วงสีอะไรอีกไหม 555

ได้พบคุณหนุ่ม กิติกร อีกครั้ง เลยพูดคุยถามไถ่ขอความเห็นถึงเรื่องการคอมเม้นต์ของว่าน ว่าต้องการให้ปรับปรุง เพิ่มเติมหรือแก้ไขอะไรไหม
คุณหนุ่มก็บอกมาสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “คิดยังไง พูดยังงั้น”

.. เยี่ยม..

=)

ชัดเจน ตามจริง ถูกจริตว่านน้ำค่ะ..

การแข่งขันก็ดำเนินไป โดยเชฟทั้งสองท่านก็ตีความการเฉลิมฉลองของพ่อตามแบบของตัวเอง
โดยเชฟฮามาโอกะจะตีความในรูปแบบความรักความคิดถึงของเชฟที่มีต่อคุณพ่อ
ส่วนเชฟบุญธรรมจะตีความในรูปแบบของการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ซึ่งตรงนี้สำหรับว่าน ไม่มีใครถูกใครผิด และไม่ได้เอามาคิดรวมในการให้คะแนนของว่านนะคะ
เพราะไม่ว่าจะในรูปแบบใด ก็เป็นสิ่งที่เชฟทั้งสองท่านสื่อออกมาถึง”พ่อ”เหมือนกัน
เหมือนภาพศิลปะ ไม่มีถูกผิด สุดแท้แต่จะตีความกันค่ะ

เริ่มกันที่อาหารของทางฝั่งเชฟทากาชิ ฮามาโอกะ เชฟผู้ท้าชิงก่อนนะคะ
จานแรก “โรลซูชิบลูฟินของพ่อ” 
..ไม่แย่ แต่ก็ไม่เด่นค่ะ ดีที่ได้Yamaimo – มันภูเขา มาช่วยเพิ่มtexture ความกรุบกรอบของจานนี้ไว้
การใช้ซอสครีสชีสมาช่วยเพิ่มรสเข้มมันนั้นเป็นไอเดียที่ดี แต่รสชาติของปลาทูน่าบลูฟินกลับจมหายไปในส่วนผสมอื่นๆ รวมถึงอโวคาโด้ด้วย
จะเห็นได้ว่าส่วนของเนื้อปลาเมื่อเทียบแล้วเกือบจะถูกกลืนหายไปในโรลเลยทีเดียว
ถ้าพูดถึงแค่ว่าเป็นโรลซูชิที่อร่อยไหม? อร่อยค่ะ
แต่ถ้าถามว่าเป็นโรลซูชิที่ช่วยเสริมรสชาติของบลูฟินทูน่าไหม? ไม่ค่ะ

จานที่ 2 ของเชฟผู้ท้าชิง “อาณาเขตทูน่าบลูฟินกับซอส 2 สัมผัส”
ชอบคอนเส็ปต์ของจานนี้นะคะ ความเป็นพี่น้อง และเรื่องซอสอุ่น กับซอสเย็น การใช้ความเผ็ด กับความเปรี้ยว-หวาน
.. แต่มัน fail ค่ะ ..
fail เพราะ “เนย” ที่ใส่ในซอสค่ะ
อย่างที่ทราบกันว่า “เนย” เมื่ออยู่ในอุณหภูมิปรกติ มันจะเริ่มจับตัวเป็นไขๆ
ทำให้กลบรสชาติของเนื้อปลาทูน่าบลูฟินจนตายสนิทไปอย่างน่าเสียดาย (มาก)
ถ้าจานนี้ เชฟฮามาโอกะไม่ใส่เนยแล้วละก็ เชฟบุญธรรมมีหนาวค่ะ
ส่วนทรัฟเฟิลที่ใส่มา.. ห้ะ? อะไรนะ?

จานที่ 3 ของเชฟผู้ท้าชิง “ซุปบลูฟินอุ่นไอรัก”
น้ำซุปรสชาติดี กลมกล่อม รับประทานแล้วรับรู้ได้ถึงความรักและความอบอุ่นของความเป็น”พ่อ”
รสชาติของน้ำซุปไม่แรงหรือจัดเกินจนกลบรสชาติของเนื้อปลาทูน่าบลูฟิน จานนี้ว่านให้ผ่านค่ะ

จานที่ 4 ของเชฟผู้ท้าชิง “บลูฟินอบออริจินัลสไตล์”
จานนี้ต้องเรียกว่า “เฉียด” ค่ะ.. เฉียดจะมัน เฉียดจะเลี่ยน
ความเด่นของจานนี้อยู่ที่รสชาติความเค็มของมิโสะขาว ไข่หอยเม่น ไข่แดง
ผสานกับความหวาน และเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกันของมะม่วงสุก และลูกพลับ ที่เอาไปผัดเพิ่มรสก่อน
เพิ่มด้วยความกรุบ มัน ของเมล็ดลูกสน.. ทำให้เมนูนี้ว่านให้เต็มค่ะ
.. แต่ขอบอกว่าเฉียดจริงๆ นะ ถ้าหวาน หรือเลี่ยนเกินกว่านี้อีกนิด.. fail ไม่แพ้จานที่ 2 เลยแหละ..

มาดูอาหารของทางฝั่ง Iron Chef กันบ้างค่ะ
จานแรก “คิงออฟเต้าหู้ (Takara Tofu)”
การเลือกเนื้อปลาส่วนแก้ม ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความหวาน นุ่ม ละเอียดมาก และไขมันน้อย
มาเข้าคู่กับเต้าหู้ที่ใส่สเปิร์มปลาปั๊กเป้าที่มีรสขื่นนิดๆ และมีรสเผ็ดอ่อนๆ ของวาซาบิ ก็เป็นการสร้างสมดุลทางรสชาติที่น่าสนใจ
เรียกได้ว่าเป็นรสชาติที่ค่อนข้าง”ผู้ใหญ่” หน่อย เพราะมีทั้งความขื่นและเผ็ดจางๆ ในตัว
ถ้าจะมีที่ติบ้างก็เป็นในเรื่องของการนำเสนอค่ะ ถ้านอกจากการใช้กลีบบัวมาประดับแล้ว
ถ้านำส่วนประกอบของบัว เช่น เมล็ดบัวมาใช้ในอาหารสักนิด น่าจะช่วยร้อยเรื่องราวเข้ากับอาหารจานนี้ได้ดีขึ้นค่ะ
เอาแค่กลีบบัวมาโรยๆ ดูแล้วเหมือนแค่ส่วนประกอบเพื่อสร้างสีสันเท่านั้นเอง

จานที่ 2 “อิจิบังเพื่อพ่อ (Choyju Nigomi)” 
จานนี้กินแล้ว งง-งง 555 จะเห็นได้ว่าในคลิปกินแล้วคิ้วผูกโบว์เลย..
คือตอนนั้นกำลังใคร่ครวญอยู่ว่ามัน”อร่อย”ไหม “อร่อย”ยังไง(นะ)
คืออย่างที่เคยบอกในตอนที่แล้วแล้วว่า สำหรับว่าน การบรรยายความอร่อยในรายการนี้เนี่ย มันต้องมีที่มาที่ไปนะ
จะมากินแล้วบอกแค่ว่า”อร่อยค่า” ยิ้มเผล่ แล้วจบ.. มันไม่ได้นะ
ต้องตอบ ต้องบรรยายให้ได้ว่า ไอ้ที่ว่า”อร่อย” (หรือ”ไม่อร่อย”)น่ะ มัน”อร่อย” ยังไง
เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด ขม กลมกล่อม รสสัมผัสเป็นยังไง เพราะคนดูทางบ้านเค้าไม่ได้มาดู มาชิม มาดม มาชมอย่างเราด้วย

..ก็หลังจากตอบตัวเองได้ว่า ความอร่อยของจานนี้มีที่มาจากรสชาติน้ำซุปที่เข้มข้น ไม่จัดเกิน กลิ่นสมุนไพรไม่แรงไป
เนื้อส่วนเอ็นโทโร่ ถึงจะค่อนไปทางเหนียวและหนึบแน่น แต่ก็ไม่แข็งกระด้างเกิน
ถือว่าผ่านค่ะ..


   ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/ironchefthailand

จานที่ 3 “ราชาซูชิ”
เป็นเมนูที่.. สูงส่งมาก.. เพราะมาวางแล้วกรรมการมองหน้ากันเลิ่กลั่ก จะกินยังไงดีเนี่ย สูงม๊ากกก 555
จะต้องให้ยืนกินม้ายยย XD
สุดท้ายถึงจะเอาส่วนของชามต้นข้าวมาวางแล้ว ยังแทบจะต้องชะแง้กินอยู่ดี (^^’ )
การใช้น้ำจากเมล็ดลูกพุทธรักษาเอามาหุงกับข้าวถือเป็นไอเดียที่แปลกใหม่ดีค่ะ
ตัวซอสที่ประกอบด้วยไข่หอยเม่น ฟัวกรา ถึงจะมีความเข้มข้นและหนักมันอยู่ในตัว
แต่เพราะความรอบคอบของเชฟบุญธรรมที่aburi (ย่างผิวๆ) ในส่วนของโอโทโร่หมักซอสเพื่อไล่ความมันของปลาก่อน
ทำให้จานนี้ว่านให้เต็มค่ะ

จานที่ 4 “พ่อครับ..ผมรักพ่อ (Umi Yama Jiru)”
เมนูนี้ การใช้ปลาทูน่าบลูฟินมาหมักกับเครื่องเทศก่อนจะจี่ในกระทะ ช่วยตัดปัญหาด้านความมันของเนื้อปลาโอโทโร่ได้เป็นอย่างดี
องุ่นทะเลก็ช่วยเพิ่มความกรุบๆ ให้กับtexture ของจานนี้
ส่วนตัวแล้วจะขอตินิดเดียวก็ตรงที่ใช้หูฉลามเนี่ยแหละค่ะ =( นอกนั้นก็นับว่าผ่านค่ะ ในเรื่องของรสชาติ

สุดท้ายแล้ว ก็เป็นฝ่ายIron Chef ที่มีชัยไปในที่สุด
โดยส่วนตัวว่าน เป็นเพราะทางเชฟผู้ท้าชิงเป็นฝ่ายที่”พลาด”มากกว่าตามที่ได้กล่าวไปแล้ว
และทางฝ่าย Iron Chef สามารถนำเสนอ”รสชาติ” ของปลาทูน่าบลูฟินออกมาได้ดีกว่า

สำหรับการการให้ความเห็นของคณะกรรมการนั้น ก็ยังเป็นไปตามเดิมค่ะ คือในแต่ละจาน กรรมการจะไม่ได้คอมเนต์กันทุกคน
เทปนี้สังเกตตัวเองว่าสีหน้าจะค่อนข้างเคร่งเครียดกว่าเทปที่แล้ว อาจจะเพราะว่านกดดันตัวเอง อยากทำให้ดีกว่าครั้งก่อนด้วยกระมังคะ
ถ้าเผื่อว่าดูเครียดเกินไปหรืออะไรยังไง ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ _/|\_
ขอแก้ตัวในครั้งหน้าละกันค่ะ จะยิ้มเยอะๆ เลย (^^ )

สามารถเลือกรับชมรายการย้อนหลังได้ตามนี้เลย ช่วงเวลาแห่งการชิมจะอยู่คลิปที่ 5และ6 นะคะ






ขอบคุณทางรายการเชฟกระทะเหล็กประเทศไทยที่ให้เกียรติเชิญว่านน้ำไปเป็นกรรมการเช่นเคยนะคะ = )
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามนะคะ สวัสดีค่ะ